‘นิติพล ผิวเหมาะ’ มองจากปลายสู่ต้นเหตุแนวทางหยุดสงครามคนกับช้างป่าให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คน กับ ช้างป่า เป็นที่เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน และมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดความรุนแรงจนกระทั่งบาดเจ็บ เสียชีวิตทั้งคนและช้าง พื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “สาเหตุที่ผมมองว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าไม่ต่างจากสงคราม เพราะในแต่ละปีเรามีผู้เสียชีวิตเพราะโดนช้างทำร้ายเกือบร้อยคน บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ข้าวของทรัพย์สินรวมถึงผลิตผลการเกษตรทั้งสวนทั้งไร่มากมายได้รับความเสียหาย หากคิดเป็นมูลค่าแล้วมหาศาลมากในแต่ละปี

ปัญหาสำคัญที่สุดที่ผ่านมา คือ เราขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มากพอที่จะมองเห็นความสำคัญและโอกาสจากเรื่องนี้ ปล่อยปะละเลยให้ชาวบ้านทนทุกข์เผชิญชะตากรรม อยู่กับความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน คนภาคตะวันออกเจอปัญหานี้หนักสุดนับสิบปี

สำหรับการแก้ปัญหานี้ ผมมองอย่างไร มันต้องมองให้รอบด้านจากปลายไปถึงต้นเหตุ เพื่อวางแผนบริหารจัดการได้อย่างถูกจุด เพราะเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรายจ่ายอย่างเดียว เพราะหากวางนโยบายได้ถูกจุด รายได้ที่ย้อนกลับมาอาจมากกว่างบประมาณที่ลงทุนไป และสำคัญที่สุดคือ กระจายถึงมือพี่น้องประชาชนโดยตรง

โดยสรุปแนวทางดังนี้

1.มองเป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจ ภาครัฐต้องเยียวยาชดเชยทั้งผู้ได้รับผลกระทบในอดีต ปัจจุบันและมีเกณฑ์ชัดเจนในอนาคต นี่คือกุญแจสำคัญดอกแรก เป็นการคืนขวัญกำลังใจให้ผู้คน และลดความรู้สึกคับแค้นขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า อย่างน้อยที่สุด เศรษฐกิจจากน้ำพักน้ำแรงที่เขาทำไป ต้องได้รับกลับคืน จะสร้างมุมมองเชิงบวกต่อปัญหามากขึ้น เพื่อเปิดประตูไปสู่การแก้ปัญหามิติอื่นต่อไป

ที่สำคัญ การล่อช้างกลับป่าด้วยอาหาร ได้ผลกว่าไล่ด้วยเสียงปืน จากการติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาบวกกับบทเรียนจากต่างประเทศ แนวทางไล่ช้างกลับป่าด้วยความรุนแรงได้ผลเพียงชั่วคราว แต่อาจยิ่งสร้างรอยบาดหมางกันระหว่างคนกับช้างมากขึ้น จนถึงขั้นเอาชีวิตกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยส่วนใหญ่ที่ช้างรุกเข้าพื้นที่เกษตรกระทั่งคืบเข้าพื้นที่ชุมชนคืออาหาร ดังนั้น เราสามารถค่อยๆ ขยับให้เขากลับเข้าป่าได้ด้วยอาหารช้าง ไม่ว่าจะนำผักผลไม้ไปกองรวมกันไว้แต่ละจุดที่ใกล้ป่ามากขึ้นในช่วงที่เขาหาอาหารตามธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องใช้งบประมาณก็จริง แต่หากมีการจัดการงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์ด้วยการพุ่งเป้าให้เม็ดเงินนั้นลงไปตามสวนผลไม้ของคนในชุมชน อาจเป็นการซื้อผลไม้ตกเกรด ก็จะเป็นรายได้ที่ลงถึงชุมชนได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นเกินจะทำอย่างไร แล้วก็ลดปัญหาของช้างได้ด้วย

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา คือ ปลุกเศรษฐกิจใหม่ด้วยการท่องเที่ยว ป่าสมบูรณ์ขึ้น มีช้างป่าเป็นจุดขายมากกว่าเป็นสัตว์โชว์ นี่คือโมเดลที่ทำสำเร็จแล้วในประเทศศรีลังกา ที่นั่นเคยมีปัญหาคนกับช้างไม่น้อยกว่าประเทศไทยมาก่อน แต่ตอนนี้เขาเริ่มจัดการได้ และที่สำคัญผู้มีบทบาทในโมเดลนี้ในศรีลังกาก็คือคนไทย ดังนั้น ถ้าเห็นทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน โมเดลนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และถ้าย้อนกลับไปข้อแรกเรื่องการเยียวยา ทำให้ความรู้สึกลบกลับมาบวกมากขึ้น ประตูโอกาสบานนี้ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้

2.มองให้เห็นความสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อม ป่าต้องปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า เราต้องจริงจังกับการล่าสัตว์ป่า ที่ผ่านมา มีรายงานให้ผมได้ยินหลายครั้งว่า ประเทศไทยคือเส้นทางสำคัญของพวกค้าสัตว์ป่าผ่านการฟอกสวมต่างๆ เช่น งาช้างป่าหรือช้างแอฟริกันกับช้างบ้านไทย สวนเสือหรือเสือวัดป่ากับการค้าหนังเสือ และยังมีการล่าสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ซึ่งช้างป่าเป็นอีกหนึ่งเป้าของคนกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย จึงเป็นสาเหตุให้เขาขยับมาอยู่ใกล้ชุมชนมากขึ้นเพราะรู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่ในป่าที่เป็นบ้านของพวกเขาเอง

เราจึงจะต้องจริงจังและชัดเจนในเรื่องนี้ สงครามที่เกิดขึ้นต้องไม่ใช่คนกับช้าง แต่คือขบวนการค้าสัตว์ป่าที่ต้องจัดการอย่างไม่ไว้หน้าไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ เมื่อป่าปลอดภัยช้างจะกลับคืนสู่ป่าโดยธรรมชาติ

เรื่องนี้บางคนอาจไม่ค่อยสนใจ เพราะที่ผ่านมาผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องก็ทำเบลอ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งภาครัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยพิทักษ์ป่าที่ต้องมีทั้งคนและเครื่องมือที่พร้อม ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ ที่สำคัญคือต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนโดยรอบ หรือชุมชนในผืนป่าที่มีวิถีผูกพันกับป่า เพราะต้องยอมรับความจริงพื้นฐานว่า ต่อให้รัฐทุ่มเงินและคนเท่าไหร่ก็ดูแลป่าไม่ได้ หากไม่มีส่วนร่วมจากคนในท้องถิ่น แนวทางนี้พิสูจน์มาแล้วจากทั่วโลกว่า เราสามารถดูแลรักษาป่าได้จริงมากกว่าการประกาศเขตอุทยานแล้วเอาคนออกจากป่าไปเรื่อย ๆ ”

นายนิติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสมดุลระหว่างคนกับป่า และการมีป่าสมบูรณ์โดยมีช้างป่าเป็นวิศวกรของป่านั้นสามารถนำมาคิดเป็นคาร์บอนเครดิตที่ขายได้มูลค่าสูง จะยิ่งเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้ชุมชนอยากมีป่า ช้างและคนต่างอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่สร้างประโยชน์ร่วมกันได้ เป็นสมดุลภายใต้แนวทางการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ผมอยากผลักดัน

About Author