เปิดเส้นทาง “พชรวรรณ คงเจริญ” จากพนักงานสาว “ซีพี ออลล์” สู่แชมป์โลก นักดมกลิ่นกาแฟ

ย้อนเส้นทางพนักงานสาว ซีพี ออลล์ แชมป์โลกนักดมกลิ่นกาแฟ “World Aromaster Championship 2023” คนล่าสุด ผู้ต้องการส่งต่อกลิ่นและรสชาติกาแฟแก้วที่ดีที่สุดถึงผู้บริโภค

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลายเป็นที่ตั้งเวทีแข่งขันของเหล่ามืออาชีพนักดมกลิ่นกาแฟระดับโลก ในรายการ World Aromaster Championship 2023 ที่จัดขึ้นเพื่อค้นหาบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะด้านประสาทสัมผัสและด้านการอธิบายรสชาติ Scentone โดยสถาบัน School of Coffee Flavorist (SOCOF) สถาบันสอนกาแฟเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การสอนด้านกาแฟให้กับผู้ที่สนใจ ที่มีมาตรฐานในระดับสากล SCA, SCENTONE, GCS จากประเทศเกาหลี

โดยรายการ World Aromaster Championship เป็นเวทีวัดทักษะด้าน Sensory Test หรือการทดสอบคุณภาพอาหารโดยใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์เป็นเครื่องแปลผลทางความรู้สึก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 พร้อมจัดมาต่อเนื่อง จนในปี 2023 นี้ การแข่งขัน World Aromaster Championship ได้มีผู้เข้าแข่งขันฝ่าฝันมาจนถึงรอบสุดท้ายรวม 9 คน จากประเทศเกาหลี เวียดนาม และไทย ซึ่งบทสรุปสุดท้ายผลปรากฏว่า “พชรวรรณ คงเจริญ หรือ ปอย” 1 ใน 3 ตัวแทน Aromaster ของประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นทักษะด้าน Sensory Test ที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปี เข้าป้ายคว้าแชมป์ World Aromaster Championship 2023 ไปครอง

ปอย พชรวรรณ คงเจริญ

โดย ปอย พชรวรรณ คงเจริญ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็น Aromaster จากการหลงรักเสน่ห์และรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟเป็นทุนเดิม ประกอบกับเส้นทางทำงานหลังเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่ได้มาเป็นผู้รับผิดชอบงานส่วนการควบคุมคุณภาพเมล็ดกาแฟ ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงยังได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและพัฒนาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในกลุ่มของกาแฟที่จำหน่ายผ่าน All CAFÉ ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับบริษัทที่คอยสนับสนุนด้านการเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ได้ช่วยผลักดันให้ พชรวรรณ ลองทำตามแพชชันที่มี อย่างการสมัครเข้าแข่ง Aromaster ครั้งแรก จนสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ในท้ายที่สุด

“โดยปกติแล้วที่บริษัทจะมีการเทรนนิ่งเพื่อยกระดับทักษะการทำงานขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น การฝึกฝนกับชุดดมกลิ่นกาแฟ-ฝึกฝนชิมกาแฟที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุกไตรมาส โดยการฝึกฝนนี้ได้ช่วยให้เราสามารถแยกแยะกลิ่นของกาแฟแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม ก่อนจะลงลึกรายละเอียดไปว่าแต่ละกลุ่มมีกลิ่นย่อยแบบไหนบ้าง เช่น กลิ่นช็อกโกแลตจะสามารถแยกได้ทั้ง ดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต หรืออื่น ๆ ซึ่งความยากของการแข่งขันจะอยู่ที่จำนวนกลิ่นที่มีทั้งหมด 144 กลิ่น ให้เราต้องจินตนาการให้ถูกภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาและโจทย์เรื่องกลิ่นที่มีความใกล้เคียงกันมาก”

พชรวรรณ เสริมต่ออีกว่า คุณสมบัติของนักดมกลิ่น หรือ Aromaster ทางด้านกาแฟจะคล้ายกับคุณสมบัติของผู้ทดสอบชิมอาหาร คือควรมีประสาทสัมผัสที่ดี สามารถเรียนรู้ จดจำ และบรรยายคุณลักษณะของกาแฟได้ ฉะนั้นแล้วผู้ที่จะมาเป็น Aromaster จึงต้องฝึกฝนชิมกาแฟและดมกลิ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสั่งสมประสบการณ์รวมถึงคลังคำศัพท์ เพื่อจะนำมาใช้ถ่ายทอดกลิ่นและรสของกาแฟออกมาให้ชัดเจน “ซึ่งรางวัลที่ได้รับมาในครั้งนี้ ทำให้เราตั้งเป้าหมายในการนำโอกาสนี้มาพัฒนากาแฟใน 2 แง่มุม อย่างแรกคือการนำทักษะที่ฝึกฝนมาพัฒนาเรื่องเมล็ดกาแฟอย่างเต็มที่ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้น อย่างที่สองคือการพัฒนาคนทำกาแฟ ทั้งส่วนของทีมงานที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนเหมือนที่ทำมาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงส่งต่อความรู้นี้ไปให้กับผู้อื่นในสังคมด้วย”

จากจุดเริ่มต้นการเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการดื่มกาแฟและอยากผลิตกาแฟที่เป็นสินค้าที่ดีที่สุดออกมา จนได้รับโอกาส ได้รับความรู้ และการฝึกฝนที่ดีจนพัฒนาเป็นความสามารถในด้าน Aromaster ทำให้ พชรวรรณ มุ่งมั่นจะแบ่งปันความรู้ส่งต่อให้ผู้อื่น โดยร่วมพัฒนารสชาติกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจากการร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปทำหน้าที่สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งใช้ทักษะความสามารถ Aromaster และความเป็น Q Grader หรือผู้ตัดสินคุณภาพของเมล็ดกาแฟ มาพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปเมล็ดกาแฟให้มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทำให้เมล็ดกาแฟบ้านกองกายมีคะแนนสูงขึ้น และก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลการประกวด Thailand coffee excellence 2023 ในอันดับ 4 ประเภทนวัตกรรม เหรียญทองแดง อีกด้วย

“ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่ายุคของกาแฟได้พัฒนามาสู่ยุคที่ 5 หรือยุคที่มีเทคโนโลยีเข้าไปจับในทุกส่วนของกาแฟ ที่ผู้ปลูกมีการพัฒนาจนเกิดเกษตรกรไทยที่มีฝีมือมากมาย ตัวผู้บริโภคเองมีความรู้เข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น และช่วยทำให้ตลาดกาแฟเติบโต มีการบริโภคสูงขึ้นมากกว่า 20% หลังจากโควิดที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดแล้วเรามองว่ากาแฟที่ดีควรจะดีมาตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการผลิตเมล็ดจากการมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ มีการสนับสนุนจากเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อต้นทางดีแล้ว กระบวนการต่าง ๆ อย่างการคั่วหรือการชงก็จะให้กลิ่นและรสชาติที่ดีเผยออกมาตามไปด้วย นับเป็นความต้องการของผู้ผลิตทุกคน ที่ต้องการให้ผู้บริโภคได้ชิมกาแฟแก้วที่ดีที่สุดนั่นเอง” ปอย พชรวรรณ คงเจริญ กล่าวทิ้งท้าย

About Author