ทนายความข้ามเพศ แต่งกายตามเพศสภาพ ว่าความในศาล เสี่ยงถูกลงโทษ

ทนายความข้ามเพศ แต่งกายตามเพศสภาพ ในการว่าความในศาล เผชิญกับความเสี่ยงในการถูกลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

ในวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 09.30 น. ชิษณ์ชาภา พานิช ทนายความและเนติบัณฑิตหญิงข้ามเพศเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ คุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคุณกิตตินันท์ ธรมธัช ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ ร้องเรียนให้เนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมถ์ ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ซึ่งยังคงไม่อนุญาตให้ทนายความข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพได้ ส่งผลให้การแต่งกายสวมชุดครุยเนติของทนายความข้ามเพศในศาลถือเป็นเรื่องฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวและต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1) ประกอบมาตรา 33 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งมีโทษถึงถูกไล่ออกจากห้องพิจารณาหรือถูกลงโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งสองสถาน เพราะถือว่าการแต่งกายข้ามเพศของทนายความเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลด้วยเหตุแต่งกายฝ่าฝืนข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ซึ่งห้ามมิให้ทนายความข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพได้

โดยระบุว่า การห้ามแต่งกายตามเพศสภาพตามบทบัญญัติตามข้อบังคับของทั้งสององค์กรดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่ตนและทนายความข้ามเพศในอันต้องประสบปัญหาจากการถูกตำหนิติเตียนจากผู้พิพากษาและเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลนับว่าเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะหรือนำไปสู่การกำหนดความผิดและโทษแก่การแต่งกายข้ามเพศซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเคยมีความเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘เพศ’ อันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคซึ่งฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ค.ศ. 1966 มาตรา 2 วรรคหนึ่งและมาตรา 26  

นอกจากนี้ การแต่งกายข้ามเพศของทนายความถือเป็นการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลอันแสดงออกถึงอำนาจในการกำหนดตัวตนซึ่งเป็นคุณค่าที่มีลักษณะเฉพาะและถือกำเนิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ การแต่งกายข้ามเพศจึงเป็นการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในความเป็นส่วนตัวตลอดจนเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางเพศซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ค.ศ. 1966 มาตรา 17, มาตรา 19 วรรคสอง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 ที่บัญญัติว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันทั้งในศักดิ์ศรีและสิทธิ…”  อีกทั้งการที่ข้อบังคับดังกล่าวห้ามมิให้ทนายความข้ามเพศแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศได้นั้นยังส่งผลให้ทนายความข้ามเพศไม่สามารถประกอบวิชาชีพทนายความโดยการว่าความในศาลตามปกติได้อันเป็นการขัดต่อสิทธิในการทำงานและการดำเนินชีวิตในการทำงานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 มาตรา 6 และถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลตามมาตรา 2 วรรคสอง แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 ด้วย ดังนั้น ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แทรกแซงสิทธิในสิทธิความเป็นส่วนตัวเกินสมควร และละเมิดสิทธิในการทำงานของทนายความข้ามเพศ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีความผูกพันในฐานะรัฐภาคี

แม้ที่ผ่านมาเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความได้เริ่มมีการแก้กฎระเบียบให้นักศึกษากฎหมายสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศในการเข้าฟังการบรรยาย สอบข้อเขียน สอบปากเปล่า อบรมหลักสูตรจริยธรรม ตลอดจนรับพระราชทานประกาศนียบัตรได้แล้วก็ตาม แต่สำหรับข้อบังคับสภาทนายความและข้อบังคับเนติซึ่งมีผลโดยตรงต่อการแต่งกายเข้าว่าความในศาลนั้นกลับไม่ได้มีการแก้ไขด้วย นอกจากนี้ แม้เนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความจะมีการแก้ไขข้อบังคับของตนให้ทนายความหญิงสามารถแต่งกายใส่กางเกงเข้าว่าความได้แล้ว แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับสิทธิในการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศ อีกทั้งหากนักศึกษากฎหมายหญิงและนักศึกษากฎหมายหญิงข้ามเพศประสงค์จะสวมกางเกงเข้าฟังการบรรยาย สอบข้อเขียน สอบปากเปล่า อบรมหลักสูตรจริยธรรม ตลอดจนรับพระราชทานประกาศนียบัตร ก็ยังไม่สามารถกระทำได้เพราะระเบียบกำหนดให้ใส่กระโปรงได้เท่านั้น ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัยในการเข้าอบรมและเข้าสอบตลอดจนการเดินทางมาเพื่อรับการอบรมและสอบหลายท่านต้องอาศัยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและเผชิญกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อีกทั้งยังล่อแหลมต่อการถูกละเมิดและคุกคามทางเพศได้อย่างง่ายดาย

ดังนั้น ชิษณ์ชาภา พานิช จึงต้องการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิมนุษชยชนโดยร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) ในการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ตลอดจนกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทนายความข้ามเพศมีสิทธิแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศในการว่าความในศาลได้ และให้นักศึกษากฎหมายหญิงและนักศึกษากฎหมายหญิงข้ามเพศมีสิทธิสวมกางเกงเพื่อเข้าฟังการบรรยาย สอบข้อเขียน สอบปากเปล่า อบรมหลักสูตรจริยธรรม ตลอดจนรับพระราชทานประกาศนียบัตรได้  เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตลอดจนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งนี้ เพื่อเยียวยาความเสียหายและอำนวยความเป็นธรรมให้ดิฉันและทนายความข้ามเพศรวมทั้งนักศึกษากฎหมายหญิงและหญิงข้ามเพศทุกคนในประเทศไทย

โดยคุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วเพื่อดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้ตามขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

About Author