“พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ยุทธศาสตร์สำคัญช่วยผลักดันมหาวิทยาลัยไทย สู่การศึกษาในระดับสากล

โครงการ “การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 เป็นกรอบแนวทางดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นรากฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำประเทศไปสู่การหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Escaping the Middle – Income Trap) โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา ปลูกฝังคุณธรรม เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างคนตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย เพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างจริงจัง (Radical Transformation) กระทรวง อว. มีนโยบายการปรับทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาตามความถนัด สร้างความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ ในขณะเดียวกันภายในมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีปัญหา ด้านการบริหารจัดการที่และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาที่ต้องแก้ไข “การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” จึงมีเป้าประสงค์ที่จะให้สถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ระยะ 20 ปี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล ที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศในการร่วมสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีขั้นสูง และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างระบบการศึกษาเพื่อเป็นเลิศทางวิชาการระดับนานาชาติ

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงแผนการปฏิรูปมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัล ว่า ปัจจุบัน อว. มี “โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี เพื่อปรับทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ทันสมัย เน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้มีความเก่งเฉพาะด้าน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยแบ่งมหาวิทยาลัยเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา และกลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ แต่เนื่องจากยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงเร็วและมาก การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ซึ่งการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดคือเรื่องของ AI ซึ่งเราพยายามพัฒนาหลักสูตร โดยร่วมมือกับต่างประเทศสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI ,วิศวกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการลงทุนเพื่อ การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล

กระทรวง อว. ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 2570 จะสามารถพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตกำลังคนและพัฒนาแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล ซึ่งการพลิกโฉมครั้งนี้ จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถทำงานได้ทันที โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกอบรมอะไรเพิ่มเติม เพราะนักศึกษาเหล่านี้ได้ผ่านการเรียนรู้จากการปฎิบัติการจริง แก้ไขปัญหาจริงมาแล้วในระหว่างการฝึกงาน โดยที่มหาวิทยาลัยจะเข้าไปทำหลักสูตรร่วมกับบริษัท” นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เช่นเดียวกับบุคลากรหรืออาจารย์ผู้สอน จะต้องได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าบางคนจะจบปริญญาเอกมาแล้วก็ตาม ก็ยังคงต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง จะต้องลงพื้นที่ทำงานกับอุตสาหกรรม ไปทำวิจัยกับต่างประเทศ เพราะปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย อาจารย์จึงต้องพัฒนาความรู้ให้ทันสมัย สามารถที่จะสอนนักศึกษาได้ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่จริงเพื่อให้เกิดทักษะ หรือ การรู้จักคิด นั้นเอง

About Author