รมช.คมนาคม เปิดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี การรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ “MARPOL at 50 – Our commitment goes on”

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลักภายใต้คณะอนุกรรมการจัดงานวันทางทะเลโลกที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ได้จัดกิจกรรมงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “MARPOL at 50 – Our commitment goes on” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ณ ณ ห้องบอลรูม 3 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธาน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทย เริ่มมีการค้าขายทางเรือและขนส่งสินค้าทางน้ำมาอย่างยาวนานตามประวัติศาสตร์จนกระทั่งในทุกวันนี้ ด้วยยุทธศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ที่ติดทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทย ที่อาศัยการขนส่งสินค้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านทางเรือมากขึ้น ทำให้การขนส่งทางทะเลเปรียบเหมือนกระดูกสันหลัง และเป็นเส้นทางของการค้าขายระหว่างประเทศ และมีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลก โดยมีส่วนแบ่งในการขนส่งมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งทางทะเล ซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะขับเคลื่อนโดยเครื่องจักรกล อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก ทั้งขยะทางทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ กลายเป็นสิ่งท้าทายสำคัญเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดสอดคล้องกับที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือแบบองค์รวม และในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรือ อนุสัญญา MARPOL ที่สร้างคุณูปการต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล IMO จึงได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันทางทะเลโลกประจำปี พ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “MARPOL at 50 – Our commitment goes on” โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันทางทะเลโลกขึ้นเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งประสานให้เกิดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ตามความมุ่งมั่นขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรืออนุสัญญา MARPOL ที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมากมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือ

นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลงาน ด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางทะเลที่เกิดจากเรือ ซึ่งในปีนี้องค์การทางทะเลระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลฉบับแรก ที่เรียกชื่อว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรือ อนุสัญญา MARPOL และกำหนดเป็นหัวข้อการจัดงานในปีนี้ คือ “MARPOL at 50 – Our commitment goes on” ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรม เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรืออนุสัญญา MARPOL ที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมากมาย ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือ

สำหรับกิจกรรมวันทางทะเลโลกประจำปี 2566 นี้ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้คณะอนุกรรมการจัดงานวันทางทะเลโลก ได้กำหนดจัดให้มีกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย การกล่าวคำปราศรัยโดย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม การกล่าวปาฐกถาพิเศษจากรองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และผู้แทนจาก World Shipping Council ในหัวข้อ “Moving Toward Greener Shipping : GHG Reduction in Maritime Sector” , การจัดเวทีเสวนา หัวข้อ “การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางน้ำ” ประกอบด้วย นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย , ผศ.ดร.อาทิตย์ ทิพย์พิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , ดร. เฉลิมวุฒิ แท่นสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเอเชีย , นายอาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไปบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ,นาวาตรี เจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ นาวาเอก ปริศฎางค์ กาศขุนทด กรรมการผู้จัดการบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ประธานสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย รวมไปถึงการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลและพัฒนานวัตกรรมการขนส่งทางน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญา MARPOL ที่เน้นย้ำถึงการขนส่งสินค้าทางน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมของทะเลและภาคการขนส่งทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของการรักษาระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

About Author