มาทำความรู้จัก “Pride Month” และทำไมต้องตรงกับเดือนมิถุนายน

รู้จัก “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจ

จุดเริ่มต้นของเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1960 ซึ่งยุคที่สังคมยังไม่เปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนในวันนี้ ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางคนถึงขับไล่ออกจากบ้าน พวกเขาจำต้องหลบปิดบังตัวตนไม่ให้ใครได้รู้

เมื่อยุคนั้นไม่มีใครยอมรับ สถานที่ปลอดภัยของพวกเขาจึงมีเพียงแค่ “บาร์เกย์” เอาไว้เป็นที่นัดไปรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ และเป็นที่พักสำหรับใครก็ตามที่ถูกบ้านขับไล่มา 

ด้วยการเลือกปฏิบัติ บาร์เกย์ในยุคแรก ๆ จึงยังไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย พอจะไปจดทะเบียน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้จด เพียงเพราะว่าเป็นเกย์ 

ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมักจะเปิดบาร์เกย์เถื่อน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 คือ ตำรวจบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์  “สโตนวอลล์ อิน”  (Stonewall Inn)ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทรานส์ เกย์ และอื่น ๆ แต่พวกเขาไม่ยอม สุดท้ายเหตุการณ์จึงบานปลาย มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม

เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน 

แต่ยิ่งตำรวจปราบปรามมากเท่าไร ฝูงชนก็ยิ่งเดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สื่อถึง “ไพรด์” (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตัวเอง

โดยพวกเขาเริ่มจากการเคลื่อนไหวในมหานครนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา และกระจายไปทั่วโลก 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 28 มิถุนายน  จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน 

แต่การระลึกถึงเหตุการณ์จราจลในวันนั้น ได้ขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้าย กลายเป็นเรียกร้องแบบทั้งเดือนยาวต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นที่มาของเทศกาล “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจที่ยาวนานตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนั่นเอง

สำหรับความหมายของ “LGBTQIAN+” นั้นย่อมาจากคำเรียกเพศวิถีต่างๆ ที่มีความหลากหลาย จากเดิมที่มีตัวอักษร “LGBT” แค่ 4 ตัว แต่ต่อมาได้ใส่ + เข้าไป เพื่อสื่อถึงความหลากหลายที่เพิ่มเข้ามา 

กระทั่งได้เพิ่มตัวอักษรเข้าไปอีก 4 ตัว กลายเป็น “LGBTQIAN+” ในปัจจุบันนั่นเอง โดย คำย่อในปัจจุบัน มาจากคำดังต่อไปนี้ 

  • Lesbian – เลสเบี้ยน คือ ผู้หญิงที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน
  • Gay – เกย์ คือ บุคคลที่ชื่นชอบในบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศตรงกับตนเอง โดยในบริบทของสังคมไทยจะเข้าใจว่าเกย์ คือ เพศชายที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นเพศชายด้วยกัน
  • Bisexual – คนรักสองเพศ คือ คนที่ชื่นชอบได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม
  • Transgender – คนข้ามเพศ คือ บุคคลที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้าม และแตกต่างไปจากเพศกำเนิดของตัวเอง
  • Queer – เควียร์ เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตัวเอง ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องเพศ
  • Intersex – คนที่มีเพศกำกวม คือ บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือแบบโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคคลากรทางแพทย์
  • Asexual – คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือ บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม
  • Non-Binary – นอนไบนารี่ เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อทำให้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ให้สอดคล้องกับเพศหญิง หรือเพศชายเท่านั้น

ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

อย่างที่เราทราบกันดีว่า “LGBTQIAN+” นั้นเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย และสีรุ้งก็เป็นการรวมตัวของสีหลายๆ เฉดมาเป็นหนึ่งเดียวกัน  “ธงสีรุ้ง” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การออกแบบของ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 

โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 โดยในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่

  • สีชมพู (Hot Pink) หมายถึง เรื่องเพศ
  • สีแดง หมายถึง ชีวิต
  • สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
  • สีฟ้า (Turquoise) หมายถึง เวทมนต์
  • สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่

ต่อมาในภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ สีชมพู Hot pink และสีฟ้า Turquoise เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเคย

ข้อมูลจากAmnesty International Thailand

About Author