รู้หรือไม่!? 8 มีนาคม “วันสตรีสากล” พร้อมประวัติและที่มา

 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันสตรีสากล  โดยมีชื่อเดิมว่า “วันแรงงานสตรีสากล” International Women’s Day โดยผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ด้านแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีอย่างเท่าเทียมกัน

  • ประวัติวันสตรีสากล

นับแต่อดีต ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลจัดการงานบ้าน แต่เมื่อยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานหญิงที่ออกมาทำงานนอกบ้าน โดนกดขี่ ทั้งเรื่องการจ้างงานด้วยค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับชั่วโมงทำงาน รวมถึงสวัสดิการที่ได้รับก็ไม่เหมาะสม บางคนโดนกดขี่ทางเพศ ทำร้ายร่างกาย จนไปถึงถูกให้ออกจากงานเมื่อตั้งครรภ์

คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) สตรีที่มีบทบาทในการก่อตั้งวันสตรีสากล เธอคือผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับแรงงานหญิง เธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสายมาร์กซิสต์ และอัตถินิยม เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 (ปี พ.ศ. 2400) สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก สมรสและมีบุตร 2 คน แต่ภายหลังเธอเป็นม่าย และได้ใช้ชีวิตเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง เป็นหัวหน้ากลุ่มนักสังคมหญิง ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1

คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin)

8 มีนาคม ปี ค.ศ. 1857 โรงงานทอผ้า สหรัฐอเมริกา แรงงานหญิง 119 คน เสียชีวิตจากการถูกลอบวางเพลิงเผาโรงงานทอผ้า เนื่องจากเหตุชุมนุมเรียกร้องสิทธิของสตรีชนชั้นแรงงาน ให้เพิ่มค่าจ้าง และในปี ค.ศ. 1907 แรงงานโรงงานทอผ้าประท้วงใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากถูกใช้แรงงานกว่าวันละ 16-17 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันสังคม ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมและมีสตรีจำนวนมากเสียชีวิตจากการทำงาน และใครที่ตั้งครรภ์ ก็ถูกเลิกจ้าง

8 มีนาคม ปี ค.ศ. 1907 เป็นปีที่คลาร่าเสนอให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน “สตรีสากล”

8 มีนาคม ปี ค.ศ. 1910 กลุ่มสมัชชาแรงงานสตรี 17 ประเทศ เรียกร้องให้นายจ้าง จัดสรรเวลาที่เป็นธรรมให้แก่แรงงานหญิง ได้แก่ 1) ให้มีเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 2) เวลาส่วนตัวเพื่อหาความรู้ 8 ชั่วโมง และ 3) เป็นเวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง รวมถึงการคุ้มครองแรงงานเด็ก และสตรีตั้งครรภ์อีกด้วย

8 มีนาคม ปี ค.ศ. 1911 ที่ประชุมสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมวันสตรีสากล ณ ประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งหญิงชายมากกว่าหนึ่งล้านคน ต่อมามีหลายประเทศเข้าร่วมด้วย รวมถึงประเทศรัสเซียที่จัดงานวันสตรีสากลใน ค.ศ. 1913

  • วันสตรีสากลในไทย

วันสตรีสากล ในไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สังกัดสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความสำคัญของวันสตรีสากล และได้มีการปรับกฎหมายแรงงานต่าง ๆ ของสตรี ให้สอดคล้องกับตามรูปแบบของการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และมีการจัดการมอบรางวัลให้แก่สตรีที่ทำประโยชน์แก่สังคม ได้สาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ คุณหมอนิติเวชที่เคยช่วยคลี่คลายคดีดังด้วยเทคนิคการตรวจดีเอ็นเอ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักการเมืองหญิงผู้มีบทบาทเผยแพร่การเมือง สู่ความเข้าใจของสตรี

  • ดอกไม้ประจำวันสตรีสากล

ดอกมิโมซ่าสีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำวันสตรีสากล มีความหมายถึงความอ่อนโยนของผู้หญิง แต่แข็งแกร่งเพราะเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาว แม้อากาศจะหนาวเย็นก็อยู่รอดผ่านฤดูหนาวมาได้ บางประเทศใช้ดอกไม้ชนิดอื่นแทนวันสตรีสากล เช่น ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ

ดอกมิโมซ่า

About Author