ทำความรู้จัก “บิ๊ก ณภัทร” ผู้กำกับ M39 รุ่นใหม่

ก้าวแรก “บิ๊ก ณภัทร” ผู้กำกับ M39 รุ่นใหม่. จากเด็กหนุ่มผู้ผลิต คิด และทำหนังสั้นประกวดมากว่า 70 เรื่อง ทุกเวทีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากหนุ่มที่เคยฝันและตั้งใจว่าอยากจะเล่า ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ แนวคิด ความแปลกใหม่ ไอเดีย ผ่านแผ่นฟิล์ม จากคนที่ล้มเหลว ประสบปัญหาแบบ อุบัติเหตุ ช่วงวิกฤติที่สุดของชีวิต จนถึงวันที่เขามีแรง มีพลัง มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท จนไปคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีระดับโลกที่ เกาหลีใต้ จนได้. “บิ๊ก – ณภัทร ตั้งสง่า”


1 . บิ๊ก ณภัทร คือใครครับ ( เราคือใคร แนะนำตัวสำหรับคนทั่วไป ทำความรู้จักกัน พร้อมกับบอกกับสื่อ พี่ ๆ นักข่าว เราคือ ? )
สวัสดีครับ ผมบิ๊ก – ณภัทร ตั้งสง่า ปัจจุบันเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ นักเขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง ผมจบการศึกษา ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์ (ทุน BU Creative และ ทุน BU to NEW YORK)
ปริญญาโท นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา Digital Marketing มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ทุนศิลปิน)

  • เป็นตัวแทนไทยที่ได้รับรางวัลด้านภาพยนตร์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติรวมแล้วกว่า30เวที และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยประจำปี 2013 เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนด้านภาพยนตร์ระดับเอเชีย (Film Leaders Incubator) ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และที่เกาะ  ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น
  • เป็นตัวแทนประเทศไทยนำภาพยนตร์สั้นไปฉายในหมวดShortFilm Corner เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2015
  • ได้รับทุน Fantastic Film School จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) ในปี 2018
  • เป็นตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุน AFiS Busan Asian Film School โรงเรียนชั้นนำด้านภาพยนตร์ติดอันดับโลกของเกาหลี ในช่วงปี 2020-2021 และได้รับรางวัลชนะเลิศพิชชิ่งโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวจากโรงเรียน และหน่วยงาน Busan Film Commission
  • นอกจากนี้ก็เป็นเจ้าของผลงานหนังสือBest Sellerสองเล่ม “สร้างเงินล้านผ่านViral Clip” และ “Born 2 Succeed ฝันใหญ่ ใจต้องนิ่ง” เป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพในด้าน Digital Content และ International Media เคยได้รับเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติในสาขาสื่อมวลชนฯ และมีงานอดิเรกเป็นการทำคลิปรีวิวหนังใน TikTok และ Youtube
     
     
    2. จากวัยเด็ก ….พอโตขึ้น …… ช่วงเรียน มหาวิทยาลัย แล้วปัจจุบัน. บิ๊ก คือ ใครครับ ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง. ?

    ผมเริ่มต้นทำหนังตั้งแต่อายุ 15 ได้รับรางวัลหนังสั้นครั้งแรกตอนอยู่ม.4 ตอนสอบตกแล้วทำหนังชีวิตตัวเองดันได้รางวัล เลยเหิมเกริมย้ายสายมาเลย จากนั้นเพื่อนๆก็ย้ายตามมาอีกเป็นครึ่งห้อง จนต้องเปิดห้องเรียนใหม่ และเราก็ได้โฟกัสกับการทำหนังสั้นจนม.6 ผลงานหนังสั้นก็ได้มีโอกาสไปฉายที่ญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปร่วมเทศกาลหนังที่ต่างประเทศและเจอเพื่อนๆทำหนังต่างชาติมากมาย ผมเคยไปแกร่วอยู่ที่อเมริกามาเกือบปีช่วงจบม.6 ตอนนั้นอยากเข้าไปเรียนฟิล์มระดับโลก มีแต่แพชชั่น แต่ไม่ดูตัวเองเลยว่า พอร์ทก็ไม่มากพอ และคะแนนสอบ Toefl SAT ก็ไม่ถึง ผมเรียนภาษาที่นั่นเกือบปี ติวโทเฟลจนสอบเข้าคอลเลจที่นั่นได้และอาจทรานเฟอร์เข้ามหาลัยดัง ๆ ภายหลังได้

    แต่ช่วงนั้นเพื่อน ๆ ที่ไทยเขาทำหนังสั้นกันสนุกสนาน เลยอยากบินมาทำหนังกับเพื่อน ๆมากกว่า พอบินกลับมาตั้งใจจะมาทำด้วยกัน กลุ่มแตกซะงั้น ช่วงนั้นมันก็เลยจะมีการแข่งกัน บั๊ฟกันสไตล์เด็ก ๆ ผมก็เลยหันไปทำหนังสั้นล่ารางวัลจนได้ฉายา นักล่ารางวัลไปเลยช่วงนึง แต่ผมมีความสุขมากๆนะครับช่วงนั้น ตอนอยู่มหาลัย มีปีนึงทำหนังสั้นไปตั้ง 15 เรื่อง ท้ายที่สุดเราก็เจอกลุ่มที่เหมาะกับเรา จนบางส่วนก็ยังทำงานด้วยกันมากับเราจนถึงทุกวันนี้ รู้อีกทีวันนี้ผมได้เป็นอาจารย์กลับไปสอนน้อง ๆ ในมหาลัยบ้างแล้ว แต่ตัวผมคิดตลอดคือ เป็นอาจารย์ในสายงานนี้ ถ้าจะเป็นตัวจริงคือควรหาโอกาสทำงานใหม่ๆออกมาเสมอ เพราะในแต่ละปี องค์ความรู้มันเปลี่ยนไปไวมาก โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัล วันนี้เรื่องนี้ยังใหม่ อีกวันล้าสมัยไปแล้ว จะว่าไปสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้การเขียนบทยุคนี้ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะคนดูก็ฉลาดขึ้น มีทางเลือกขึ้น เขามีสิทธิเต็มร้อยที่จะไม่เลือกดูงานของเราก็ได้ แต่เราต้องหาให้เจอว่าอะไรที่จะทำให้เขาเหล่านั้นยังอยากดูงานของเราอยู่
     

    3. จุดที่ทำให้คุณหันมาสนใจในการเขียนบท ทำหนังสั้น กำกับงานหนัง ?

    ตอนเด็ก ๆ ผมวาดการ์ตูน ทำนิตยสาร เขียนนิยาย แต่ภาษาเขียน ณ ตอนนั้นเรายังไม่แข็งแรง อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์แล้วรู้สึกว่าทำไมสำนวนเราเขียนไม่ได้แบบนั้นบ้าง สุดท้ายมาพบเจอว่าการถ่ายหนังนี่แหละ ตอบโจทย์ดี เขียนแล้วออกมาถ่ายเป็นภาพ ทุกคนเห็นภาพตรงกัน และเป็นงานกลุ่ม ได้ชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ หรือแม้แต่คุณครูในโรงเรียนมาทำหนังสนุกด้วยกัน สุดท้ายโรงเรียนก็ให้เราได้ฉายผลงานของเราในวันกิจกรรมต่างๆ เช่น หนังวันครู หนังวันพ่อ หนังวันแม่ แล้วเราก็แคสติ้งครูหรือรุ่นน้องที่น่าสนใจมาเล่นหนัง เป็นช่วงที่เห็นคนดูทั้งโรงเรียนในหอประชุมสามารถรีแอค ส่งเสียงฮือฮา ปรบมือ หัวเราะ ร้องไห้ เป็นครั้งแรกขณะที่ไฟดับมืดฉายผลงานเข้าโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ เรารู้สึกว่าเออ มันMeaningful มีคุณค่าต่อจิตใจเรามากๆ ส่วนเรื่องการเขียนบท เราเองชอบทำหนังที่ต้นไอเดียมาจากเราตั้งแต่เด็กๆ เลยมักจะเขียนเอง แต่เมื่อโตขึ้นก็รู้ว่าพอให้คนอื่นเขียนบางทีชีวิตก็สบายกว่ากันมาก แต่การหาคนเขียนที่ตรงใจกับเรื่องที่เราอยากเล่านี่สิ หายากมากๆ สุดท้ายเราเลยหนีพ้นจากการเขียนไม่ได้เสียที แม้หลายครั้งสิ่งนี้จะเป็นยาขมสำหรับเราก็ตาม
     
    4. เล่าช่วงที่บิ้กแย่ มีปัญหา ก่อนที่จะได้ทุนไปเรียนต่อและประกวดผลงานที่ เกาหลีใต้ ให้ฟังหน่อยครับ ว่ามีเรื่องอะไร เกิดปัญหาอะไร และบิ๊กผ่านมันมาได้อย่างไร ?


    หลาย ๆ คนอาจเจอวิกฤติชีวิตในช่วงโควิด แต่ผมโดนรับน้องก่อนหน้านั้นปีนึงครับ ปีนั้นผมเจอหลายอย่างมาก เช่น งานโดนแคนเซิลเป็นสิบงาน โดนคนใกล้ตัวโกง เผลอล้างคอมจนไฟล์สำคัญในรอบปีครึ่งหายไปแล้วกู้ข้อมูลกลับมาไม่ได้ ลาออกจากโปรเจคทำมาร่วมปี แต่วิสัยทัศน์ไม่ตรงกับลูกค้า แต่ความพีคในปีนั้นอยู่ที่วันที่ 7 เดือน 7 ของปีนั้น ในวันฝนตกกระหน่ำ พูดตรง ๆ คือผม “เกือบตาย” อันนี้ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ คือประสบอุบัติเหตุลื่นล้มอย่างแรงจากการวิ่งลงทางลาดชันและลากกระเป๋าจะเข้าอาคาร สุดท้ายการล้มของเรามันล้มหงายหลังกระแทกพื้นอย่างแรง อีกนิดคือหัวจะลงกระแทกพื้นแล้ว แต่เรารีบยกสูง ที่กระแทกพื้นเลยเป็นที่หลังแทน แล้วผลลัพธ์คือกระดูกสันหลังหักไปสองจุด ต้องนอนบนเตียงเฉย ๆ สามเดือน จนลุกมาใส่ชุดพยุงหลังอีกเกือบปี คิดตลอดว่าถ้าวันนั้นผมเกิดเอาหัว ที่เป็นเหมือนกองบัญชาการทางความคิดลงฟาดกับพื้นอย่างแรงไปด้วย ชีวิตจะเป็นอย่างไร
    หลังจากนั้นผมเลยนั่งทบทวนชีวิตทั้งหมด ไปจนถึงไล่ดูหนังหลายร้อยเรื่อง คิดอย่างเดียวว่า “ขอแค่ไม่พิการ และลุกออกไปเดินสองขาใช้ชีวิตแบบเดิมได้เราก็ดีใจแล้ว” ตอนนั้นผมลืมทุกรางวัลที่เคยได้มาไปเลย และพอเราลุกกลับมาได้ใหม่อีกครั้ง เลยสัญญาว่าจากนี้ แข่งกับตัวเองนะ ในช่วงปีนั้นที่มองเห็นเพื่อนรอบตัวต่างมีการงานที่ก้าวหน้าไปมาก บางคนซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน มีลูก

    สมัยก่อนพอเราชอบเอาตัวเองไปเทียบกับเขาบางทีก็เฟล แต่จำได้ว่าตอนนั้นเราบอกในใจว่า ใครจะแซงเราไป เชิญไปข้างหน้าก่อนเลย เดี๋ยวเราค่อยตามไปทีหลังก็ได้ ซึ่งพอเราปล่อยวางแบบนั้น มันกลับมีความสุขกว่าเยอะเลย และทำให้เราเห็น Pace ของตัวเองด้วย ว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่ายังไง อย่างน้อยเราก็ไปข้างหน้าเรื่อย ๆ นะ ช้าลงบ้างก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ในปีนั้นก็มีข้อดีอย่างนึงตรงที่ วันนึงเรานั่งพักเหนื่อยกันในงานสัปดาห์หนังสือ ก็ได้คุยกับเพื่อนๆจนรู้สึกว่าอยากทำโปรเจคหนังเรื่องนึงมากๆ เมื่อ Project P. หรือต่อมาที่เรารู้จักกันในชื่อ The President เมื่อผมลุกออกไปไหนมาไหนได้อีกครั้ง เลยหาคอร์สเขียนบทเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง จนได้ไปเรียนคอร์สนึงที่ชื่อว่า Writer Lab ของพี่ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ คลาสนั้นเขาให้เอาโปรเจคหนังยาวมาพรีเซนหน้าห้องและพูดคุยกัน พอผมพูดจบ อยู่ดีๆก็มีพี่คนนึงที่เป็นนักเรียนร่วมคลาส ชวนผมมาพูดคุยทำความรู้จักด้วย เลยมารู้ทีหลังว่า พี่เขาไม่ใช่แค่นักเรียนในคลาส แต่เป็นผู้บริหารค่ายภาพยนตร์ที่กำลังมามองหาคอนเทนต์ใหม่ๆให้วงการ และตรงนั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมกับพี่นก ผู้บริหารค่ายภาพยนตร์M39 ได้รู้จักกันครับวันนั้นโปรเจคยังเป็นวุ้นอยู่เลยครับ

5. ในช่วงนั้น บิ๊ก ได้รู้จักกับ พี่นก (คุณนก-ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์” Managing Director & Executive Producer ผู้บริหาร บริษัท เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ (M39) จำกัด ) พี่นกได้ให้คำแนะนำอะไรกับบิ๊กบ้างครับ ?

หลังจากที่ได้รู้จักพี่นก ผมจำได้ตั้งแต่วันแรกเลยว่าพี่นกสนใจโปรเจคที่ผมกำลังพัฒนาอยู่ แต่ตอนนั้นผมก็สองจิตสองใจว่าจะลุยเอาจริงกับมันเลยดีไหมนะ เพราะตอนนั้นก็มีอีกโปรเจคนึงที่รักมาก ๆ และพัฒนามาหลายปี อยากทำด้วยเช่นกัน แต่สุดท้าย ผมก็เบนเข็มมาที่โปรเจคนี้ก่อน เพราะเห็นถึงความเป็นได้หลายอย่างที่น่าจะทำในช่วงเวลานี้มากกว่า ประจวบเหมาะกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์โควิด พี่นกก็โทรมาถามความคืบหน้าว่า ไปถึงไหนแล้ว? ยังทำอยู่ไหม? ตอนนั้นพอพี่เขาเชียร์อัพว่าอยากให้เรื่องนี้ได้ทำเป็นหนังใหญ่ฉายโรง เราก็รู้ละว่าแบบนี้จะมาเล่น ๆ ไม่ได้แล้ว เลยนัดประชุมออนไลน์กันผสมออฟไลน์หลายต่อหลายครั้ง จนเราคลอดบททรีตเมนต์ซีนาริโอออกมา ก่อนที่บทร่างนี้ ทางเกาหลีสนใจและให้ทุนเราไปเรียนและพัฒนาโปรเจคต่อที่นั่น ซึ่งผมก็อัพเดทส่งข่าวความคืบหน้าให้พี่นกเสมอครับ ผ่านไปอีกที 2 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ค่อย ๆ สุกงอมมากขึ้นเรื่อยๆพร้อมลุยแล้วครับ ขอบคุณพี่นกและทางM39 ที่ผลักดันและให้โอกาสโปรเจคพวกเราครับ
 


6 .ความยาก – ง่าย ที่เข้าไปในเวทีการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้ มันเป็นยังไงบ้างครับ เล่าให้ฟังหน่อย ?

เป็นความพยายามครั้งที่สามครับ ผมเชื่อในเรื่องโอกาสที่สามนะเพราะหลายครั้งคนจำนวนไม่น้อยมักโฟกัสและคาดหวังว่าโอกาสแรกและโอกาสที่สองจะสำเร็จ แต่พอพ่ายแพ้ ก็ล้มเลิกกันไปก่อน ผมรอมาสามปี แพ้มาสองรอบ เพราะรอบนี้คือการสอบแข่งชิงทุนไปเรียนฟิล์มต่อที่เกาหลี ร่วมกับการพัฒนาโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวที่นั่น และค่อยมาแข่งกันต่อว่าโปรเจคไหนที่จะได้รางวัลไปบ้าง คือโรงเรียนที่ผมสมัครไปมีชื่อว่า AFiS Busan Asian Film School เป็นแหล่งรวมคอนเนคชั่นของคนทำหนังหน้าใหม่ของเอเชีย เป็นสถาบันที่ได้รับการจัดลำดับให้ติดท๊อป International Film School ของโลก ด้วยความที่แต่ละปี ทางเกาหลีเขาจะเลือกตัวแทนประเทศแค่ 1-2 คนจากแต่ละประเทศไปร่วมเท่านั้น และคนไทยก็มักได้รับเลือกให้ไปแค่คนเดียวเสมอต่อหนึ่งปี ดังนั้น อะไรคือจุดที่เขาต้องเลือกเราไปจากในบรรดาคนไทยทั้งหมดที่ส่งพอร์ทหรือสมัครลงสนามเวทีนี้ ผมทำการบ้านจุดนั้นมาสองปี จนเข้าปีที่สาม เราก็ได้รับเลือกให้ได้ไป แต่ดันเจอโควิดพอดี เขาเลยแคนเซิลปีที่ผมควรจะได้ไป เลื่อนไปอีกปี แต่ในอีกปี เขาต้องคัดเลือกคนเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้ในแต่ละปีเด็กที่สมัครไม่เสียโอกาส แต่ประเด็นคือ ปีผมยังไม่ทันได้ไปเลย ปีใหม่ได้รับคัดเลือกมาต่อซะแล้ว

สรุปคือ ปี2020กับ 2021 เลยได้เรียนรวมกันเลย ตอนนั้นมีประมาณสามสิบกว่าคนจากหลายสิบประเทศ แต่เทอมแรกเขาสอนเป็นระบบออนไลน์ มางานเข้าตรงเทอมที่สอง ที่รู้อีกทีคือ เราต้องแข่งขันอีกรอบเพื่อที่จะได้ไปเรียนเทอมต่อไปที่เกาหลี สุดท้ายคนที่ได้ไปก็เหลือเพียงสิบคน ส่วนเราก็รอดไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นเขาจึงมีการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการให้เมนทอร์จากฝั่งเกาหลี อยู่ที่นั่นสี่เดือน ซึ่งบางคนเป็นทีมงานผู้สร้างหนังรางวัลระดับโลก มาประกบเราและช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรเจค จากนั้นเขาถึงให้มีการแข่งขันพิชโปรเจคกันอีกที แต่ในส่วนตรงนี้ เขาเปิดให้คนที่ได้เรียนออนไลน์มาตั้งแต่เทอมแรกได้แข่งขันด้วย โปรเจคที่เข้าร่วมมันเลยมี 24 โปรเจค 17 ประเทศ
สุดท้าย THE PRESIDENT ได้รับรางวัลชนะเลิศพิชชิ่ง BFC Award หรือ Busan Film Commission Award โดยทางกรรมการได้มีการคัดเลือกโปรเจคที่มีความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ร่วมกับผลงานอีกเรื่องจากประเทศ คาซัคสถาน

  1. พูดอะไรถึงช่วงที่ได้รางวัลล่าสุดนี้มาหน่อยครับผม ?

    ผมยอมรับเลยว่าตอนที่เขาประกาศ ไม่คิดว่าเขาจะเรียกชื่อผมออกไป แต่จริง ๆ ก็แอบหวังลึก ๆ แหละ
    แต่เวลาหวังลึก ๆ แบบนี้ บ่อยครั้งมันก็พลาดจริง ชวดจริง และก็ผิดหวัง แล้วยิ่งคราวนี้ รู้ว่า เพื่อน ๆ รอบตัวเรานี่คือระดับพระกาฬทั้งนั้น บางคนพูดอังกฤษเก่งสุด ๆ บางคนโปรเจคเคยได้รางวัลการพิชมาก่อนหน้านี้เยอะมากจากเทศกาลหนังระดับโลก จนหน้าพิชที่มีโลโก้เทศกาลหนังหรือรางวัลแปะเต็มไปหมด เราก็ใจดิ่งไปถึงตาตุ่มแล้ว ก็คิดว่าเราจะมีอะไรไปสู้กับเขา

    สุดท้ายก็ต้องใช้ที่ตัวเรื่องของเรานี่แหละ และก็ลูกบ้ากลวิธีในการนำเสนอนิดหน่อย ให้เข้าธีมเข้มข้นแบบที่เรื่องเราจะพาคนดูไป ผมมีเวลาพิช 5 นาที แต่ผมซ้อมจับเวลาพูดทวนไปทวนมาราวๆสี่สิบกว่าครั้งก่อนจะพิชจริง เรารู้ว่าเรามีต้นทุนสู้หลายคนไม่ได้ งั้นเราต้องพยายามหนักกว่าหลายเท่า

    ก็ต้องขอบคุณทางกรรมการ ที่มอบรางวัลให้เรามา อาจเพราะเขาเห็นลูกบ้าบางอย่างก็ได้ เพราะที่แน่ๆคือผมไม่ได้มาเล่นๆแน่ๆในวันนั้น เราไม่รู้ว่าเราจะได้ไหม แต่โอกาสมาแล้ว ต้องทำให้เต็มที่ ก็ถือเป็นรางวัลเป็นรางวัลที่มีความหมายต่อใจเรามาก เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดที่เราได้มา แต่สิ่งนี้ก็การันตีเราได้ในระดับนึงว่าที่เราใช้เวลาทุ่มเทกับงานนี้มาสองปีและยังไม่ได้เริ่มสร้าง มันเหนื่อยยาก หนักหนา แต่เป็นช่วงเวลาเดินทางที่ไม่สูญเปล่า อีกทั้งในระหว่างทาง ยังมีผู้ใหญ่และมิตรสหายหลายๆคนที่เมตตาพวกเรา และกระโดดมาร่วมลุยไปด้วยกัน หรืออย่างน้อยคือ คอยซัพพอร์ตบอกให้เราทำเรื่องนี้ให้ได้ เพราะมันจะส่งอิมแพคบางอย่างให้กับบ้านเมืองหรือประเทศของเราแน่ๆ ซึ่งตรงนี้เวทีต่างประเทศเขาก็รู้สึก แสดงว่ามันต้องมีความสากลบางอย่างอยู่ในโปรเจคหนังที่เราทำบ้างแหละ แต่มันก็ไปไกลกว่าวันแรกที่เราคุยกันมากจริงๆ ก็รอชมกันนะครับว่าออกมาจริงๆหน้าตาหนังจะเป็นอย่างไร เพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปอีกมากก็ได้หลังจากนี้
  1. คุณคือคนรุ่นใหม่ ผู้กำกับ ที่ไปชนะการประกวดในเวทีต่างๆมามากมาย ทั้งในเวทีระด้บประเทศ ระดับนานาชาติ อะไรคือแรงบันดาลใจ พลัง หรือแรงขับดันให้คุณทำมันได้ขนาดนี้ ครับ ?

    ผมคิดว่ารางวัลคือผลพลอยได้ของแต่ละงานนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่า งานแต่ละชิ้นจะพาตัวมันไปโลดแล่นในเวทีรางวัลได้ไกลแค่ไหน แต่ผมจะให้ความสำคัญกับการหาหัวใจในแต่ละการทำงานให้เจอ ว่าเราทำงานนี้เพื่อจุดประสงค์ใด หลักๆ เราก็คงอยากพัฒนาฝีมือของเรา อยากทำให้งานมันดีขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างน้อย ได้มีโอกาสแก้ตัวจากงานก่อนหน้า ในส่วนที่เรายังรู้สึกว่ามันมีจุดผิดพลาด แต่ถ้ายิ่งงานไหนเราพบเจอความท้าทายที่มากยิ่งไปกว่านั้น เช่น มันต้องสร้าง Call to action บางอย่างให้คนดู หรือสร้าง Social Impact หรือแม้แต่การได้รู้สึกว่างานที่กำลังทำ เป็นงานที่ มีคุณค่าต่อจิตใจมากๆ จนเรารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องเล่ามันออกมาให้ได้ มันจะยิ่งทำให้เราพยายามทำทุกทางเพื่อให้มันออกมาเป็นงานที่ดีเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเรารักการทำหนัง เราอยากบันทึกเรื่องที่มีความหมายต่อใจไว้ในรูปแบบภาพยนตร์หรือหนัง ซึ่งพอมองไปลึกกว่านั้น สิ่งนี้มันเหมือนเป็นจดหมายของเราที่บันทึกความคิด ความสนใจ มุมมองในช่วงอายุนั้นๆของเราที่ทำหนัง ทำผลงานเอาไว้

    แรงบันดาลใจสำคัญอีกเรื่องสำหรับผม ผมมักจะคิดถึงคนทำหนังระดับโลกแบบ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เสมอ
    ที่ก่อนหน้าจะมีชื่อเสียง เขาต้องทำหนังตามโจทย์ ทำหนังฉายทีวี เพื่อที่สักวันจะได้คว้าโอกาสมาทำหนังเพื่อฉายโรง แต่แล้ววันนึง เมื่อ JAWS หนังฉลามขาวกินคน ประสบความสำเร็จท่วมท้น สตูดิโอก็เปิดทางให้เขาทำหนังอะไรก็ได้ที่อยากทำ ยุคนี้คนอาจจะนึกถึงคริสโตเฟอร์ โนแลนมากกว่า แต่เราแค่คิดว่าเราได้ตามรอยแบบที่ไอดอลเราทำได้บ้าง เราก็ดีใจแล้ว อาจไม่ได้เริ่มทำหนังยาวเร็วเท่าสปีลเบิร์ก แต่อย่างน้อย พอชีวิตรู้ตัวว่าเราชอบอะไร อยากไปอยู่จุดไหน มันก็ยังทำให้เรารู้สึกว่า เออ เรายังมีคุณค่าอยู่นะ เรามีเรื่องที่ยังต้องทำ ต้องสู้ ต้องฝ่าฟัน เพื่อสักวันจะได้ดีแบบที่ไอดอลเราทำได้ หรืออย่างน้อย ขอให้ได้สักเสี้ยวนึงของแกก็ยังดี
     
     
  2. เป้าหมายที่สูงสุด ยิ่งใหญ่ ที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไรครับ ? คุณอยากทำอะไร อย่าถ่ายทอด อยากเล่าอยากส่งต่ออะไรไปให้คนในรุ่นต่อ ๆ ไปครับ ?

    ถ้าตอบแบบทะเยอทะยานคงต้องตอบแบบใครหลายคนว่า เราทำหนัง ความฝันสูงสุดคือไปให้ถึงรางวัลที่สูงที่สุด
    แต่พอโตขึ้นมา เรายิ่งพบว่า เอาแค่ให้ได้ทำหนังดี ๆ แล้วฉายโรงให้ได้ก่อน ก็พอ  (ฮาๆๆ)
    เอาจริงๆผมอยากทำหนังที่สร้างอิมแพค หรือ Call to Action บางอย่างน่ะฮะ อย่างที่เคยทำครั้งนึงคือ เราไม่เคยคิดว่า การทำหนังของเรา จะมีผลทำให้คนมาบริจาคเงินสร้างตึกให้โรงพยาบาลกว่าสามสิบล้านบาท ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันไปไกลกว่ารางวัลใดๆที่เราได้รับมาซะอีก แต่ถามว่ารางวัลยังสำคัญสำหรับเราไหม ผมตอบเลยว่าแน่นอน เพราะอยู่วงการนี้ พูดตามตรงว่า งานที่เราทำมันยากในทุก ๆ Processนะฮะ กว่าจะได้แต่ละเรื่อง บางงานเป็นปี บางงานหลายปี มีเรื่องให้นอยด์หรือเฟลบ่อยครั้ง รางวัลมันเหมือนยาชูกำลังใจ เป็นเหมือนบัตรต่ออายุทางจิตวิญญาณตบไหล่แล้วบอกว่า สู้ต่อไปนะเอ็ง อย่าเพิ่งรีบยอมแพ้แล้วไปทำอย่างอื่น

    ถ้าถามว่ามีอะไรส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ก็อยากจะส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยผลงานของเรา เราเป็นแค่ส่วนเล็กๆที่จะเป็นเลือดใหม่ของวงการ อยากให้มาลุยกันอีกเยอะ ๆ เพื่อช่วยกันยกระดับคอนเทนต์บ้านเรา เราไม่ได้ขายฝันนะ ระหว่างทางต้องพูดตรงๆว่าหลายคนรอบตัวเราก็ยอมแพ้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดใครเลย เพราะภาระชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลยต้องคิดเสมอว่า เรายังโชคดีแค่ไหนที่ยังได้จุดนี้ทำสิ่งที่เรารักอยู่ อย่างน้อยมีคนเห็นคุณค่าและให้โอกาสเรา

    เราเชื่อว่าทุกคนมีเส้นทางการเติบโตของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่อยากฝากคือ “อย่ายอมแพ้ในสิ่งที่เรารัก เพราะชีวิตเราเกิดมาครั้งเดียว ทำให้เต็มที่วันนี้ ดีกว่ายอมแพ้แล้วรู้สึกผิดหรือคาใจไปตลอด” เราคิดอย่างนั้นนะ คือถ้าเราทำออกมาแล้วเฟลจริง อย่างน้อยเราก็ได้เต็มที่ ไม่มีอะไรคาใจแล้ว ดังนั้นถ้าโอกาสยังไม่มาถึง ต้องสู้ต่อไปเรื่อย ๆ มันยาก มันเหนื่อย มันอาจมีช่วงที่เจ็บปวด แต่มันจะมีวันของเรา ถ้าเราไม่หยุดพยายามที่จะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีครับ ……..อีกไม่นานเกินรอ เราอาจจะได้เห็นหนุ่มคนนี้มีผลงาน กำกับหนังไทย ให้คนไทยได้ดู หรือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยในผลงานของเขาเป็นแน่ก็ได้

About Author