นฤมิตไพรด์ จัดใหญ่แรลลี่รวมพลคน  LGBTQIAN+ เฉลิมฉลอง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”

ธงไพรด์สีรุ้งโบกสะบัดประกาศชัยชนะกระหึ่มกรุงฯ หลังต่อสู้มายาวนานกว่า 20 ปี

(กรุงเทพฯ, ประเทศไทย) – นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม จัดกระหึ่มงาน “แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม” Celebration of Love ที่พร้อมโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้ง ประกาศชัยชนะวันแห่งประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ ฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย หลังวุฒิสภาลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….) และรอมานานกว่า 20 ปี ให้การแต่งงานของทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ พร้อมเดินหน้าจัดจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกว่า 1,000 คู่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ หลังรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

25.jpg

Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 ถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เดือนแห่งความภาคภูมิใจ และเดือนแห่งวันประวัติศาสตร์ ชัยชนะของสมรสเท่าเทียมของเหล่า LGBTQIAN+ โดยกิจกรรม “แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม” จะเริ่มปักหมุดที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 10.00 น.โดยภาคประชาชนกว่า 100 คน แถลงข่าวความพร้อมของการเข้าร่วมพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวุฒิสภา

12.00 น. การพิจารณาในวุฒิสภา 

15.00 น. เสียงขอบคุณจากประชาชนต่อตัวแทนพรรคการเมือง (บริเวณห้องโถง รัฐสภา)

16.00 น. เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม” โดยการรับรองจาก นายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน”

18.00 น. เดินทางไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เพื่อร่วมกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน” ฉลองชัยชนะของสมรสเท่าเทียม พร้อมเปิด “สัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม” บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมตลอดทั้งวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 จะเป็นการแสดงออกถึงความสำเร็จ และความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้ เพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งการผ่านกฏหมายสมรสเท่าเทียมครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับและรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในกระบวนการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างในทุก ๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำเนินมาตลอดหลายปี ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ และนำไปสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในทุกระดับของสังคม โดยบรรยากาศการเฉลิมฉลองทั้งภายในทำเนียบรัฐบาล และบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและดีใจของกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่ม LGBTQIAN+ กลุ่ม DRAG QUEEN ดารานักแสดง คู่รัก LGBTQIAN+ อินฟลูเอนเซอร์ และคนดังในแวดวงการเมืองมากกว่า 1,000 คน พร้อมใจกันโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งกันกระหึ่ม! เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความ “เท่าเทียม” และความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย

04.jpg

วาดดาว – อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” และผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่า “ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน” ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสมรสเท่าเทียม ของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งวันนี้คือวันสำคัญที่สุด วันที่เรารอคอยมานาน หลังจากที่นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ ๆ สู้เรื่องการจัดตั้งครอบครัวมานานกว่า 20 ปี แต่ความเข้มข้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 หรือ 2560 หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ที่เราปักหลักกับคำว่าสมรสเท่าเทียม และยื่นให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมันสำคัญมากสำหรับคู่ชีวิตทุกรูปแบบและทุกเพศ โดยส่วนตัวมองว่ากฎหมายครอบครัวไม่ควรจำกัดแค่เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น  ณ วันนี้เราไม่รู้ว่ามีคู่รัก LGBTQIAN+ ที่เฝ้ารอกฎหมายออกมาอย่างเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีอยู่เยอะมาก ๆ ที่ต้องการพื้นที่ และการยอมรับอย่างเท่าเทียม และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทุกคนจะออกมาแสดงตัวตนอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ดูจากการจัดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้มีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 1,000 คน และคาดว่าทั่วประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่ร่วมประกาศชัยชนะครั้งนี้ไปพร้อม ๆ กับพวกเราในวันนี้”

อย่างไรก็ตาม ในวันสำคัญนี้ (18 มิถุนายน 2567) นฤมิตไพรด์ พร้อมภาคประชาชนกว่า 100 คน ซึ่งจะมีคู่รัก LGBTQIAN+  6 คู่ นำโดย 1.คู่รักปู่ย่า – คุณกัญจน์ เกิดมีมูล ,คุณปกชกร วงศ์สุภาร์ 2.คู่รักและบุตร – คุณอารยา อัศวกมลรัช,คุณหฤษฏ อัศวกมลรัช ,คุณเอวารินฏร์ อัศวกมลรัช 3.คุณกฤษฏิ์ธนัฐ ณ เชียงใหม่,คุณธีระชัย สิทธิกูลเกียรติ 4.คุณรามณรงค์ พานทอง, คุณอาทิตยา  สุขเกษม 5.คุณพลอยนภัส จิราสุคนธ์ ,คุณขวัญพร กงเพ็ชร 6.คุณณัฐณิชา กลิ่นถาวร,คุณเควินเพทาย ถนอมเขต นำธงไพรด์สีรุ้งขนาดใหญ่เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อเข้าร่วมพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวุฒิสภา

วันนี้จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาว LGBTQIAN+ ประกาศชัยชนะของสมรสเท่าเทียม ให้ทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เป็นวันประชุมของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาสมรสเท่าเทียม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะพิจารณาเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 หากวุฒิสภาโหวตผ่าน ก็หมายถึง “ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม” ในรัฐสภา และตามกฎหมายหากผ่านรัฐสภาแล้วจะรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษาและสามารถจดทะเบียนสมรสได้ภายใน 120 วัน ดังนั้นวันนี้ “นฤมิตไพรด์” จึงจัดกิจกรรม “วันแห่งประวัติศาสตร์ ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม” ขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาฟังการพิจารณาเห็นชอบแล้ว ก็พร้อมจัดแรลลี่ไปที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย เพื่อร่วมงาน “ฉลองสมรสเท่าเทียม” อย่างเป็นทางการ ซึ่งไฮไลท์สำคัญ อยู่ที่การโยนช่อดอกไม้ของคู่รัก LGBTQIAN+ 6 คู่ ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนจะขึ้นรถแห่แรลลี่ “สมรสเท่าเทียม” รอบกรุงฯ มาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองแบบฉ่ำ ๆ พร้อมเปิดป้ายโลโก้สมรสเท่าเทียมหรือ“สัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม” อย่างเป็นทางการ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งป้ายสัญลักษณ์นี้จะขึ้นอยู่ตลอด Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 นี้

วาดดาว – อรรณว์ ชุมาพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “มันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเราชาว LGBTQIAN+ พยายามมาตลอดหลายปีจริง ๆ เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างเป็นทางการจากทุกภาคส่วน ดีใจที่เสียงของเราดังและทำสำเร็จแล้วในวันนี้ เราสามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ การแสดงออกถึงความสำเร็จและความร่วมมือของประชาชน ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งการผ่านกฏหมายสมรสเท่าเทียมนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับและรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในกระบวนการสร้างสังคม ที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเราก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างในทุก ๆ ด้าน การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำเนินมาตลอดหลายปี ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ และนำไปสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในทุกระดับของสังคม”

About Author