บทสัมภาษณ์ “โจ้-อรุณกร พิค” ผู้กำกับ “เทอม 3: ศาลล่องหน”

จุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำภาพยนตร์

ผมเป็นคนชอบถ่ายวิดีโอเล่นอยู่แล้วครับ เริ่มถ่ายจากวิดีโอทั่วไป ไม่ได้ถ่ายอะไรเป็นเรื่องราว ตอนผมเล่นกีฬาผมก็ถ่ายให้ทีมฟุตบอลของตัวเอง มารู้ตัวจริง ๆ น่าจะช่วงปี 3 ตอนนั้นผมเรียนปรัชญา ไม่ได้เรียนทางหนังมาโดยตรง แล้วมีวิชาเรียนวิชาหนึ่งให้ออกไปพรีเซนต์หน้าห้อง ซึ่งผมก็พยายามหาวิธีเลี่ยงที่จะออกไปก็เลยทำวิดีโอพรีเซนต์ขึ้นมาแทน ซึ่งผลที่ได้คือคนดูเขาสนุกกับสิ่งที่เราฉายให้ดูบนจอ มันก็เลยเป็นความประทับใจที่เห็นคนดูหัวเราะและชอบในสิ่งที่เราทำ ตั้งแต่นั้นมาก็รู้สึกสนใจที่อยากจะทำหนังขึ้นมาเรื่อย ๆ พอมีพรีเซนต์อะไรอีกก็จะเข้าทางเลย

แล้วเริ่มมาทำหนังจริงจังอย่างหนังสั้นที่ได้รางวัลเยอะแยะแบบนี้ตอนไหน

หลังจากที่เราทำพรีเซนต์ส่งหลาย ๆ วิชา ถ่ายวิดีโอให้กับทีมฟุตบอลของผม ทีนี้เพื่อน ๆ คนรู้จักก็เริ่มรู้แล้วว่าเรามาทางนี้ พอมีโครงการประกวดตรงไหนก็จะมีคนส่งข้อมุลมาให้ ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่าเราชอบที่จะทำหนังจริงจัง แต่กว่าจะได้รางวัลอะไรก็ทำไปสามเรื่องแล้ว พอได้รางวัลมาครั้งหนึ่งมันก็อยากจะได้อีกก็เลยทำหนังส่งประกวดมาเรื่อย ๆ ครับ ทำมาร่วม 10 ปีได้ ทำมาน่าจะประมาณ 50 กว่าเรื่องได้ ไม่รู้ขยันอะไรนักหนา แต่รู้ว่าชอบที่จะทำหนังไปเรื่อย ๆ

แล้วแนวที่เราถนัดคือคอมเมดี้อยู่แล้วหรือเปล่า

จริง ๆ ก็ถือว่าเป็นแนวที่ถนัด แนวตลกอารมณ์ดี อาจจะเป็นเพราะว่าองค์กรต่าง ๆ ที่เขาต้องการจะชื่นชอบผลงานแนวนี้ที่มันดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความสนุก ยิ้มแย้ม ย่อยง่าย และผมก็เป็นคนที่ชอบหนังตลก ชอบเล่นมุกกับเพื่อน การทำหนังแนวนี้ก็เลยน่าจะเป็นทางของผมที่ถนัดด้วย แต่ผมอาจจะไม่ได้ชอบความตลกแบบจังหวะโบ๊ะบ๊ะอะไรขนาดนั้น ผมจะชอบมุกที่ต้องอาศ้ยจังหวะและมุกตลกในทางบท เพราะเรื่องบทก็เป็นสิ่งที่ผมถนัดในการทำงานด้านกำกับด้วยเหมือนกัน

อย่างเรื่องนี้เราก็มีส่วนร่วมในขั้นตอนของบทบ้าง จริง ๆ “เทอม 3 ตอนศาลล่องหน” เรื่องราวมันยาวมาก ถ้าทำกันจริงหนังอาจจะยาวเป็นชั่วโมงได้เลย ก็มีการปรับบทให้มันสั้นลงมาอีกหน่อย แต่ยังคงต้องยึดโครงเดิมบางอย่างเอาไว้ด้วย ต้องให้เครดิตทีมเขียนบทด้วยที่ทำได้ดี

การเตรียมงานก่อนการถ่ายทำเป็นยังไงบ้าง

มีการเตรียมงานกันในแทบทุกส่วนครับ หลังจากที่มีทรีตเมนต์ออกมาแล้ว ก็มีการคุยกันเรื่องบทไปไม่นาน บทร่างแรกก็ออกมาทันที ก็เริ่มทำงานในส่วนของแคสติ้ง เวิร์กชอป แล้วผมก็เริ่มวาดสตอรีบอร์ดที่ถือว่าเป็นของตายของผมอยู่แล้ว ผมชอบที่จะวาดมันเอง เป็นคนที่ชอบวาดรูปอยู่แล้ว เวลาผมอยากจะสื่อสารอะไรกับใครผมก็มักจะใช้การวาดรูป ใช้ภาพอธิบายด้วย เพราะเราอาจจะไม่ได้แม่นภาษาของกล้องหรือในทางภาพยนตร์มากเหมือนนักเรียนสายหนัง แต่ผมรู้ว่าอยากได้ภาพแบบไหน ซีนนั้นมันจะมีอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในทางภาพยนตร์เราจะมาใช้วิธีตัดสลับไปมาอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ทาง “พี่ตั้ม” (พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว – โปรดิวเซอร์) ก็แนะแนวทางและลงมาช่วยได้เยอะเหมือนกัน ในส่วนของแอ็กติ้งโค้ชเราก็จะมี “ครูบาส” มาอยู่หน้าเซตด้วย เพราะเขาจะมีภาษาที่ดึงแอ็กติ้งนักแสดงออกมาได้แม่นกว่า แล้วก็มีการดีไซน์ผีที่ต้องเลือกว่าจะเป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง มีกี่ตัว ในส่วนตรงนี้ก็ต้องทำงานกันล่วงหน้า แต่ด้วยเวลาและคิวมันน้อยก็จะมีระยะเวลาในการเตรียมตัวสั้นมาก ก็ต้องให้เครดิตทีมงานที่ทำงานกันได้รวดเร็ว

เรื่องราวของ “ศาลล่องหน”

เรื่องราวมันเกิดขึ้นในคืนเดียว คืนนั้นเป็นการจัดงานลูกทุ่งฮาโลวีนของคณะศิลปกรรมศาสตร์แห่งหนึ่ง ทุกคนก็แต่งตัวจัดเต็มมากันหมด “มินท์” (แพรวา ณิชาภัทร) หนึ่งในผู้เข้าประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเกิดความไม่มั่นใจในการขึ้นไปร้องเพลง เห็นคนอื่นที่ประกวดได้พวงมาลัยกันหมดก็เลยบังคับให้เพื่อนก็คือ “วาฬ” (มาร์ช จุฑาวุฒิ) ไปหาพวงมาลัยมาคล้องคอให้บ้าง แต่ตอนนั้นมันดึกแล้วไม่มีพวงมาลัยเลย วาฬก็เลยไปหยิบพวงมาลัยที่ศาลแถวมหาลัยมาคล้องคอมินท์แทน หลังจากนั้นมินท์กับวาฬก็เริ่มโดนเล่นงาน จนทั้งคู่ต้องพยายามไปตามหาศาลเพื่อขอขมา แต่ศาลนี้มันเป็นศาลที่ล่องหนได้ ไม่เคยจะอยู่ที่เดิม ๆ และถ้าใครได้รู้เรื่องของศาลนี้แล้วจะไม่ได้เห็นศาลอีก แต่ถ้าใครยังไม่เคยรู้เรื่องศาลนี้ก็จะสามารถเห้นได้ ซึ่งทั้งงานมีแค่ “ฮาเลย์” (มาร์ค ศิวัช) คนเดียวที่ยังไม่รู้เรื่องราวของศาลนี้มาก่อน วาฬและมินท์เลยต้องหลอกล่อให้ฮาเลย์ตามหาศาลนี้ให้ เรื่องราววุ่นวายในคืนนั้นก็เกิดขึ้นทั้งจากผีจริงและผีปลอม

บทบาท-คาแร็กเตอร์

เริ่มจาก “วาฬ” (มาร์ช จุฑาวุฒิ) จะเป็นเพื่อนที่ตามใจเพื่อนไปซะหมด “มินท์” สั่งอะไรก็ทำให้ แต่ก็จะมีความทำไปให้มันจบ ๆ ทีเล่นทีจริงไปเรื่อย ขี้บ่น ไม่ให้ความจริงจังหรือให้ความสำคัญอะไรขนาดนั้น มองทุกอย่างเป็นเรื่องล้อเล่น แต่กับเพื่อนก็พร้อมจะซัปพอร์ตเพื่อนเสมอ ไม่ค่อยกลัวผี ไม่เชื่อเรื่องผีซักเท่าไหร่ ในเรื่องเขาก็จะแต่งเป็นแวมไพร์ มีความหล่อเท่ มีผ้าคลุม มีเขี้ยว อยากใส่ให้มันสมกับเป็นเด็กเรียนสายศิลปะ ก็ให้จัดเต็มเลยประมาณว่าเป็นเด็กศิลปกรรมที่หล่อเท่แบบผู้บริหาร

“มินท์” (แพรวา ณิชาภัทร) จะเป็นผู้หญิงที่ชอบออกคำสั่ง มีความเอาแต่ใจตัวเอง แต่ในความมั่นใจก็จะเป็นคนไม่มั่นใจในการร้องเพลงของตัวเอง คือเขาอยากขึ้นไปแสดงไปประกวดนะแต่ว่าเขาก็ยังต้องการคนมาซัปพอร์ตสิ่งที่เขาทำเขาคิด มันก็เลยมีเพื่อนอย่าง “วาฬ” และก็รู้ว่าเพื่อนคนไหนที่ฉันสั่งมันได้ เป็นคนกลัวผีแต่ก็พร้อมที่จะลุยไปกับเพื่อน ในเรื่องมินท์ก็จะแต่งตัวเป็นแม่นาค มีผีไอ้แดงสะพายไปไหนมาไหนด้วย

“ฮาเลย์” (มาร์ค ศิวัช) ถ้าพูดง่าย ๆ เลยก็คือเนิร์ด แต่เขาจะเป็นเนิร์ดที่พยายามเข้าหาผู้คน แต่ว่าผู้คนไม่ได้เออออไปกับเขาด้วย อย่างในเรื่องฮาเลย์พยายามที่จะเอาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผีที่ตัวเองค้นหามาอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟัง แต่ก็ไม่มีใครสนใจ เพื่อนจะมองว่าฮาเลย์มันเยอะไป รู้แล้วได้อะไร ในเรื่องฮาเลย์ก็จะแต่งตัวเป็นเวนดิโก อันนี้เป็นความตั้งใจของคนเขียนบทที่จะต้องการให้ตัวฮาเลย์แต่งแบบนี้ แล้วทางเรา

ก็มาชั่งน้ำหนักดูว่าเอาเวนดิโกดีมั้ย ผมรู้สึกว่าถ้ามันมีใครสักคนที่แต่งผีแต่งตัวประหลาดที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักก็คงจะดีเหมือนกัน คาแร็กเตอร์ก็จะชัดขึ้นเพราะฮาเลย์เป็นคนคนคิดเยอะรู้เยอะ เป็นคนหาข้อมูลมาจนล้น ก็เลยแต่งเต็มแบบมีเขากวาง มือดำข้างหนึ่ง ดูผ่าเหล่าผ่ากอดี ไม่เหมือนใครในเรื่อง แล้วพอใคร ๆ เห็นก็จะตั้งคำถามว่าตัวนี้มันตัวอะไร ฮาเลย์ก็จะได้อธิบายยาว ๆ ตามคาแร็กเตอร์เขาเลย

ร่วมงานกับนักแสดงแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง

ผมรู้สึกว่า “มาร์ช จุฑาวุฒิ” ทำการบ้านมาละเอียด แล้วพอมาเจอหน้ากันทุกครั้งก็จะมีคำถามมาตลอด อย่างเรื่องการตีความในแบบที่ตัวละครจะคิด เขาจะมาคุยละ พี่ตรงนี้มันน่าจะเป็นแบบนี้ใช่ไหม เขาจะมาแลกเปลี่ยน มาถามอยู่เรื่อย ๆ แล้วบางอันที่มีมุกที่อยากใส่ลงไปตรงไหน เขาก็จะมาบอกว่าเอาแบบนี้มั้ย มีของมาขายตลอด ผมก็จะบอกว่าเอาเลยเล่นไปเลย มากน้อยเดี๋ยวก็ลองดูกัน ในบางซีนบางมุกก็เป็นความสามารถของเขา ในทางของบทมันก็เอื้อให้เขาได้เสริมเติมอะไรลงไปอยู่แล้ว ฉะนั้นพวกลูกแซะ การบ่นเขาก็จะคิดค้นอะไรเพิ่มขึ้นมาเองซึ่งก็ถือว่าเข้าทางเรา วันที่อ่านบทกันวันแรก ๆ ตัวละครของเขา เป็นคนที่พูดคำหยาบค่อนข้างเยอะ แต่ผมจะรู้สึกว่าการพูดคำว่า “ไอ้สัด” เขาพูดได้สะใจเหมือนเวลาที่เราได้ยิน “น้าค่อม” พูดคำนี้ มันดูเข้าปาก มาร์ชเขามีลูกนี้อยู่ มีจังหวะที่จะพูดและเข้าปาก แต่เสียดายที่เราต้องตัดออกบ้าง เพราะมันจะหยาบกันทั้งเรื่อง

ส่วน “มาร์ค ศิวัช” จะเด็กสุดในกลุ่มละ เขาจะรอว่าพี่ ๆ จะเล่นยังไง ผมจะเอาแบบไหน ไม่ใช่ว่ามาร์คไม่ทำการบ้านนะ เขาก็ทำการบ้านของเขามาแล้ว เขายังไปรีเสิร์ชไปหาข้อมูลคาแร็กเตอร์แบบ “ฮาเลย์” มา แต่มาร์คจะไม่ค่อยมาถามอะไรเยอะ เขาจะมีข้อดีตรงที่อะไรก็แล้วแต่เขาพร้อมจะทำพร้อมที่จะลุยกับมัน เช่น มีอยู่วันหนึ่งที่ทีมงานหาสตันต์มาเล่นแทนเขาในฉากที่ต้องใส่สลิง เขาก็มาเลย โห…พี่โจ้ ผมขอเล่นฉากสลิงเองได้มั้ย ให้ผมได้เล่นเองเถอะ ผมก็อ้าว…พูดเองนะ อยากลองก็ให้ลอง กลายเป็นว่ามาร์คก็คือเล่นเองทั้งสองซีนที่มีสลิง วันนั้นเขาก็มีเจ็บที่หลังนะเพราะมันไปกระแทกกับมุมกล่องที่รองรับเขา เขาเจ็บนะแต่เขาสู้ หลายเทคเขาก็สู้ ยกนิ้วให้เลยเขาเป็นเด็กที่พร้อมลองพร้อมลุย เป็นเด็กซน ๆ คนหนึ่ง พอคัตก็เอาละหันไปเล่นทันที พอมาที่มอนิเตอร์ก็มาเล่นมุกเล่นหูเล่นตาละ

ส่วน “แพรวา” นี่จะอยู่ในเลเวลตรงกลางระหว่าง “มาร์ช” กับ “มาร์ค” แพรวาก็จะคล้าย ๆ มาร์คคือไม่ค่อยมาถามอะไรเยอะ แต่แพรวาก็จะทำการบ้านมาอยู่แล้ว อย่างในเรื่องต้องมีการทำเสียงแหบ ก็ไม่ได้ง่าย ๆ นะการทำเสียงให้แหบได้เท่า ๆ กันในแต่ละซีนที่ถ่ายสลับซีนกัน มีการท่องบทสวด แพรวาก็ท่องได้เข้าปาก วิธีการเล่นคือทำได้หมด บางครั้งไม่เหลืออะไรให้ผมคอมเมนต์เท่าไหร่ เขาเล่นตรงตามที่เราคิด ปกติเวลาที่เล่นเสร็จเราจะมีอะไรไปบรีฟ แต่กับแพรวาเรารู้สึกว่าเขาก็เล่นดีแล้ว

ใน “ศาลล่องหน” มีความสยองขวัญขนาดไหน เป็นอย่างที่คาดหวังไว้มั้ย

ในแง่งานภาพผมว่ามันดีกว่าที่ผมคิดไว้อีก และในด้านความสยองเรื่องนี้ก็สร้างความขนลุก ลุ้น และติดตาได้แน่นอน ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่หนังผีตลก แต่มันคือหนังภารกิจ มันมีความเป็นหนังมิชชันที่ได้หลากหลายอารมณ์ ตัวนักแสดงเองก็ไม่ใช่แนวทางของตลกตีหัว ในทางบทแล้วเรื่องราวมันมีความสนุก ความเป็นเพื่อนที่ต้องไปทำภารกิจสยองด้วยกัน คาแร็กเตอร์ที่มันแตกต่างกัน ทุกคนทำการบ้านมาอย่างดี  ฉะนั้นถามว่าได้ขำแล้วหมดความสยองมั้ย ไม่เลย ความสยองในแบบฉบับของหนังสยองขวัญก็ยังมีอยู่ทั้งเรื่อง และผมว่ามันก็จะไม่แพ้อีกสองตอนใน “เทอม 3” ด้วยครับ

เรียกว่านอกเหนือความสยอง ความตลก ก็ยังเป็นเรื่องที่เทคนิคโหดอยู่เหมือนกัน

เอฟเฟกต์สลิงครบครับ กว่าจะผ่านกันก็หลายเทก หลายจุด หลายซีน นักแสดงก็สู้กันสุด ถ่ายตอนกลางคืนทั้งคืนก็มี ส่วนตัวผมคิดว่าการแสดงและสปิริตของนักแสดงที่ให้มามันเกินคาด มีแต่ช่วงวันแรก ๆ ที่ยังต้องจูนกันอยู่บ้าง เสียดายที่คิวถ่ายน้อยไปหน่อย หลาย ๆ อย่างเราอยากจะใส่อะไรลงไปกันมากกว่านี้ เรื่องการทำงานมันค่อนข้างบีบมาก เราต้องแก้ปัญหากันหน้ากองตลอด และใช้เวลาในแต่ละซีนค่อนข้างนาน รายละเอียดในแต่ละซีนมีดีเทลเยอะ

ส่วนในเรื่องของความสยองก็ยังจัดเต็มรูปแบบ ในเรื่อง “ศาลล่องหน” เราก็จะต้องมีผีที่เราคุ้นเคยกันในศาล ไม่ว่าจะเป็นผีนางรำ ตุ๊กตาตายายต่าง ๆ ทีมเอฟเฟกต์ก็คือทำเหมือนจนนักแสดงและทีมงานไม่กล้าเข้าห้องน้ำ ที่มากไปกว่านั้นถ้าสังเกตเห็นตุ๊กตาในที่อยู่ในศาล กับนักแสดงสมทบของเราจะมีความเหมือนที่หลุดออกมาจากศาลจริง ๆ อันนี้เป็นความเก่งของทีมอาร์ตด้วย ดีเทลความสยองต่าง ๆ ชุดที่ใส่แค่ยืนเฉย ๆ ก็ขนลุกแล้วครับ ยิ่ง “มาร์ช” เองคือแพ้ทางผีนางรำมาก แล้วด้วยความที่ตอนของเรามีความเป็น

สยองคอมเมดี้ ถ้าเราไปทำให้ผีมีความตลก ความน่ากลัวของเรื่องมันจะหายไป แน่นอนเลยว่าผีของเราน่าขนลุก แต่ด้วยสถานการณ์และภารกิจของเรื่อง บทหนังมันก็จะพาสนุกไปเอง

ฝากผลงาน

ฝากเรื่อง “เทอม 3” ผลงานจากผู้กำกับรุ่นใหม่ทั้งผม, เบิ้ล, นัทสอกับตู้ เชื่อว่าผู้กำกับแต่ละคนพยายามใส่ความแปลกใหม่ และแนวทางใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน ทั้งสามเรื่องก็จะมีทั้งคอมเมดี้ สยดสยอง ลึกลับ ดราม่า ครบรสมาก จองตั๋วหนึ่งใบได้ดูทั้งสามผลงาน นักแสดงวัยรุ่นคุณภาพ อยากให้ทุกคนมาสนับสนุนหนังไทยกันเยอะ ๆ นะครับ

About Author

You may have missed