อีอีซี จับมือ TEDA ขับเคลื่อนกลไกทวิภาคี เพิ่มมิติดึงนักลงทุนจีน สู่พื้นที่ อีอีซี

อีอีซี จับมือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนจิน (TEDA) ขับเคลื่อนกลไกทวิภาคี เพิ่มมิติดึงนักลงทุนจีน สู่พื้นที่ อีอีซี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง หรือ LOI (Letter of Intent on Cooperation) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนจิน (Tianjin Economic-Technological Development Area: TEDA) ร่วมกับ นาย Cao Hong Gang รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี TEDA

โดยมี ดร.ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดร.ธิติวัช อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นางสาวชญานุช มณีรินทร์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนาย Lian Mao Jun สมาชิกคณะกรรมการประจำพรรคนครเทียนจิน และเลขาธิการคณะกรรมการพรรคเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ปินไห่ พร้อมคณะผู้บริหารร่วมเป็นพยาน

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ LOI ความร่วมมือระหว่างสองเขตพัฒนาพิเศษดังกล่าว ในการส่งเสริมและชักชวนการลงทุนของนักลงทุนจีนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี อาทิ กำหนดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง สร้างกลไกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลไกความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ความร่วมมือด้านการขนส่งท่าเรือ ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และความร่วมมือในการพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์

โดยความร่วมมือกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี TEDA ถือเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับประเทศของนครเทียนจิน เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติรุ่นแรกของประเทศจีน ที่ตั้งขึ้นกว่า 40 ปี ปัจจุบันมีวิสาหกิจต่างชาติกว่า 3,300 รายเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาฯ แห่งนี้ มีบริษัทข้ามชาติที่สำคัญในเขตพัฒนาฯ แห่งนี้ เช่น Motorola, Toyota, Honda, SAMSUNG Electronics, Freescale Semiconductor, Nestlé, SEW และ Novo Nordisk เป็นต้น โดยมีอุตสาหกรรมเสาหลักที่สำคัญ 4 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมการสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Communication) อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรม การแพทย์ชีวภาพ โดยเขต TEDA ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มี GDP ต่อหัวของเขตเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว มีความแข็งแกร่งทางศักยภาพเป็นอันดับหนึ่งจากเขตพัฒนาระดับประเทศ 57 แห่ง จึงกลายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจชั้นนำของเขตใหม่ปินไห่ และเป็นจุดเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของนครเทียนจิน

สำหรับพิธีการลงนาม LOI ในครั้งนี้ จะประสานความร่วมมือระหว่างทั้งสองเขตพัฒนาพิเศษและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติภารกิจด้านส่งเสริมและชักชวนการลงทุนของนักลงทุนจีนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี โดยสกพอ. พร้อมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เดินทางไปเยือนและชักชวนการลงทุนนักลงทุนจีน เมื่อวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ นครเทียนจิน และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

About Author