“สวนสุนันทา” เปิดค่ายเยาวชนโอลิมปิก บ่มเพาะคนดี มีทักษะ สู่สังคม

สวนสุนันทา เปิดค่ายเยาวชนโอลิมปิก บ่มเพาะคนดี มีทักษะ สู่สังคม ด้วยการปลูกฝังค่านิยมโอลิมปิก

ศูนย์การศึกษาโอลิมปิก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนโอลิมปิก โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนกำเเพงเเสนวิทยา จ.นครปฐม โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม และกาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี เข้าร่วม จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากเยาวชน อายุ 14-18 ปี มีความเป็นผู้นำ รักการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งพิจารณาจากการเขียนเรียงความเกี่ยวกับกีฬาที่ตนเองชื่นชอบ กิจกรรมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-21 มกราคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตนครปฐม จ.นครปฐม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน สมพงษ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาโอลิมปิก กล่าวว่า “ศูนย์การศึกษาโอลิมปิก เห็นความสำคัญของการปลูกฝังค่านิยมโอลิมปิกแก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถเป็นกระบอกเสียงสะท้อนมุมมองของเยาวชนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของคุณค่ากีฬา การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รวมทั้งสาระสำคัญที่เกี่ยวกับยูธโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศไทยจะได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2573 นั้น โดยเฉพาะการฝึกฝนตนเองของเด็กและเยาวชนในการเสาะแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิก การสร้างเสริมค่านิยมโอลิมปิก และสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน กล่าวต่อว่า กิจกรรมในค่ายประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก นายพัฒนวงศ์ คงถม ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะนักกีฬาจานร่อนทีมชาติไทย ซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาจานร่อนชิงแชมป์เอเซียโอเชียเนีย ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปินส์ เมื่อวันที่ 6-10 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการฝึกซ้อมจนถึงการลงสนามแข่งขันจริงในต่างประเทศ และสิ่งที่นักกีฬาทีมชาติไทยต้องมี คือ ความใฝ่พยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูงในการมั่นฝึกฝนตนเอง ทั้งนี้การพูดคุยเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนโอลิมปิกในครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของโอลิมปิกเกมส์ สมัยโบราณ สู่โอลิมปิกเกมส์ สมัยใหม่ คุณค่าของโอลิมปิกคืออะไร สำคัญอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน สมพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโอลิมปิก เป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้

รวมถึงกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ Spirit of the game เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้ถึงหัวใจสำคัญของกีฬา คือ การมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา รวมถึงความหมายของสัญลักษณ์โอลิมปิก 5 ห่วง โดยแสดงออกผ่านรูปวาดตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอผลงานของเด็กๆ

และกิจกรรมภาคสนาม มีการแบ่งกลุ่มออกตามจำนวนของ สัญลักษณ์โอลิมปิก คือ ห่วงโอลิมปิก 5 ห่วง โดยฝึกให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเล่นกีฬาจานร่อน ซึ่งเป็นกีฬาทีมที่ต้องใช้สปิริตในการตัดสินด้วยตนเอง (Self Referee) เป็นกีฬาที่ไม่มีผู้ตัดสิน โดยฝึกฝนการทำงานเป็นทีม มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน สมพงษ์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมค่ายเยาวชนโอลิมปิก เป็นค่ายที่จัดขึ้นเพื่อฝึกความใฝ่พยายาม ฝึกทักษะจากฐานกิจกรรม อาทิ เกมนันทนาการโดยใช้กีฬาจานร่อน ซึ่งเป็นกีฬาที่สนุกสนาน ใช้อุปกรณ์ไม่เยอะ เป็นกีฬาใหม่ที่ท้าทายความสามารถของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะสอดแทรกสาระสำคัญของโอลิมปิก คือ ความใฝ่พยายามที่จะทำให้สำเร็จ มีความรื่นรมณ์ในความเพียร การเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม การเคารพให้เกียรติในกฎกติกา มารยาท การมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ และมีดุลภาพของชีวิต ทั้งร่างกาย จิตใจ สิตปัญญา สิ่งเหล่านี้คือสาระสำคัญของโอลิมปิกที่ได้สอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมต่าง ๆ

ท้ายที่สุด สิ่งที่เด็กและเยาวชนจะได้จากค่ายเยาวชนโอลิมปิก คือ การได้เรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิก การสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน และเกิดความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข โดยเด็กและเยาวชนทุกคนได้แสดงออกผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สุดท้ายแล้วเป้าหมายของกิจกรรม คือ เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้ เข้าใจในอุดมการณ์โอลิมปิก และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

About Author