“TCEB” จัดงาน GTEC เสริมแกร่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวไมซ์

เจาะตลาดจีนยกระดับสินค้าบริการวางเป้าศูนย์กลางไมซ์ลุ่มน้ำโขง

ในปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และผู้ผลิตสินค้าไทยอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ที่หลายรายพยายามหาช่องทางการสร้างรายได้เสริมจากภาวะวิกฤตินี้ ขณะในมุมกลับกันตอนนี้เศรษฐกิจจีน เติบโตอย่างสวนกระแส จึงเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ของไทย จะได้เพิ่มช่องทางในการหารายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ในพื้นที่เที่ยวของตน รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาเที่ยวไทยอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดสงบลง

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) หรือ ทีเส็บ จึงได้ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE เพื่อให้เกิดการบูรณาการการสร้างเวทีประชุมสัมมนา เพื่อให้ความรู้และข้อแนะนำในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ได้มีโอกาสใช้งานดังกล่าว เป็นเวทีในการพัฒนาต่อยอดสินค้าบริการในพื้นที่ของตนรองรับพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าชาวจีนในอนาคต รวมถึงคำแนะนำในการหาช่องทางการขายไปยังกลุ่มผู้ซื้อจากจีนผ่านช่องทาง Online

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กล่าวถึงการจัดงาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE ในปีนี้ว่า การจัดงานในปีนี้ ทีเส็บได้บูรณาการการจัดงานร่วมกันกับ Thailand E-Business Centre (TEC) ศูนย์ e-Business Center ด้านการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ แห่งแรกของไทย รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงสินค้าและบริการไปยังตลาดจีนหลายท่าน

โดยทีเส็บคาดหวังให้งาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE เป็นงานศูนย์กลางการประชุมสัมมนา เพื่อเจรจาจับคู่นานาชาติของสินค้า บริการจากชุมชนและ SME ของภูมิภาค GMS หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ในอนาคต โดยการใช้กลไกไมซ์เป็นเครื่องมือ ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสินค้า และบริการจากชุมชนเข้ากับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวคิด “ระเบียงเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่จะก่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงกันทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งทีเส็บมีแผนพัฒนางาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE สู่งานศูนย์กลางการพัฒนาสินค้าและบริการ SME ระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดการติดต่อค้าขายสินค้าและบริการของประเทศในกลุ่ม CLMVT เข้ากับ Platform Ecommerce จากจีน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงาน และทีเส็บ มีบทบาทในการเป็นผู้ร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือ Co-creator of business opportunities ผ่านการจัดงานไมซ์ โดยโครงการ GTEC จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนอีกงานหนึ่ง

สำหรับการจัดสัมมนา GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE จัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ณ TRUE DIGITAL PARK ภายในงานจะมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ด้าน e-Commerce และการท่องเที่ยวและไมซ์, ความสำเร็จ และความล้มเหลว ในการประกอบธุรกิจ E-commerce ในจีน, แนวโน้มตลาด e-commerce จีนยุค New Normal, Chinese Customer Behavior เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคจีน, การถามตอบเกี่ยวกับการเชื่อมโยงตลาด E-Commerce จีน และกิจกรรมทดลอง วิเคราะห์และประเมินสินค้าโดยชาวจีนและชาวไทย (Chinese test) รวมถึงการจับคู่ทางการค้ากับนักธุรกิจไทย รวมถึง การออกบูธของผู้ประกอบการไทย และชุมชนท่องเที่ยว

โดยเป้าหมายการจัดงานเพื่อเป็นเวทีในการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือพัฒนาสินค้า บริการให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ได้ทราบถึงพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคตลาดจีนว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ตลาดจีนต้องการสินค้าประเภทใด และมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการขายสู่ Platform Online จีน ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสู่ตลาด E-commerce ของประเทศจีน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางราย ไม่ประสบความสำเร็จในการต่อยอดสินค้า และบริการบน Platform Ecommerce ของจีน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

สำหรับแผนงานในการดำเนินในปีหน้า ทีเส็บ มีแผนร่วมกับพันธมิตร ในการเตรียมการเชื่อมโยงนักเดินทางชาวจีนกับชุมชนในอนาคตเพิ่มเติม โดยการลงพื้นที่จัดกิจกรรม GTEC Workshop สัญจร ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดยอดนิยมของชาวจีนรอบกรุงเทพฯ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่ชุมชน ได้เข้าใจพฤติกรรมการให้บริการด้านการท่องเที่ยวและไมซ์แก่ชาวจีน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในการเตรียมรองรับนักเดินทางจีนในอนาคต โดยจะดำเนินการวางแผนเพื่อทำการโปรโมตชุมชนที่มีความพร้อมในการรองรับนักเดินทางไมซ์ชาวจีน เพื่อเป็นการสร้างการรู้ถึง New Destination ใหม่ให้แก่ชาวจีน รวมถึงสร้างความประทับใจใหม่ ในการเดินทางลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับร่วมกับชุมชน ภายหลังการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักเดินทางจีนในอนาคต

นี่จึงเป็นโอกาส ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้เรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่มตลาดจีน และเตรียมความพร้อม ก่อนที่นักเดินทางชาวจีนจะเดินทางกลับมาในไทยอีกครั้ง

About Author