แม่ร่ำไห้! ไม่มีเงินทำบุญ 100 วันลูกถูกเบนซ์ชนเสียชีวิต

แม่ร่ำไห้! ไม่มีเงินทำบุญ 100 วันลูกถูกเบนซ์ชนเสียชีวิต คปภ. มึนตึ๊บ ศาลตัดสินแต่ประกันยังเถียง จ่อฟันโทษ ต้องจ่าย 2.5 ล้าน

จากกรณี น.ส.พัชราภา เกรัมย์ หรือ น้องหญิง อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สาขานิติศาสตร์ ปีที่ 4 ถูกรถเบนซ์ชนจนเสียชีวิต ขณะขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา  ขณะที่รถเบนซ์คันดังกล่าว ทำประกันชั้น 1 กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง วงเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท แต่บริษัทประกันไม่ยอมจ่าย อ้างว่าประมาทร่วม  ทั้งที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

รายการโหนกระแสวันที่ 22 พ.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ แม่สมเร็จ เกรัมย์, พ่อสมชาย เกรัมย์ มาพร้อม ชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ.

แม่มีลูกกี่คน?

แม่ : สองคนค่ะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?

พ่อ : วันเสาร์ที่ 1 พ.ค. ลูกสาวขับรถกลับจากโรงเรียน แล้วปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น มีเพื่อนบ้านโทรไปบอกว่าลูกสาวถูกรถชนที่บ้านสองชั้น ทีนี้แม่ก็ไปตามที่นา ก็รีบมา มาก็ไม่พบลูก เพราะรถรพ. ไปส่งแล้ว เราก็ติดตามไป พอเข้าไปปรากฎว่าลูกสาวไม่รู้สึกตัวอะไรเลย จากนั้นทางรพ. ก็ส่งลูกสาวไปที่จังหวัด บอกว่าอาการหนัก มีเลือดคั่งในท้อง ผมก็ตามไป แต่ไม่ถึงลูกสาวก็เสียชีวิตแล้ว

น้องหญิงเป็นคนเล็ก?

พ่อ : ครับ น้องอายุ 21 ปี เรียนอยู่ปีสุดท้าย ม.ราชภัฎบุรีรัมย์

ลูกสาวตั้งใจว่าเรียนจบออกมาจะทำมาหากิน ดูแลที่บ้าน?

พ่อ : ครับ คนโตเป็นครูครับ

เขาเคยบอกมั้ยทำมาจะทำอะไร?

พ่อ : เขาอยากเป็นนักกฎหมาย ทนายความ อยากเป็นอัยการ

เขามีอนาคตที่ดี น่าจะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้เยอะพอสมควร?

พ่อ : เขาคิดหวังไว้อย่างนั้น ว่าเขาเรียนจบมาทำงาน เขาจะมีเงิน เขาจะพาแม่เขาไปเที่ยว จะสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่ใหม่

แม่ : จะพาไปเที่ยวเมืองจีน

พ่อ : จะหาเงินให้พ่อแม่ใช้เยอะๆ เขาพูดอย่างนั้น น้องเป็นคนเรียนดีครับ

สิ่งที่เขาวาดฝันไว้จะไปถึงอยู่แล้ว ถ้าไม่เสียชีวิตเสียก่อน วันนี้ไม่มีโอกาสแล้ว วันนั้นหลังรถเบนซ์ไปชน มีการพูดคุยเรื่องการเยียวยายังไงบ้าง?

พ่อ : หลังจากลูกได้รับอุบัติเหตุ ผมก็ประกอบพิธีทำบุญลูกสาวเสร็จ มีการนัดไปคุยที่โรงพักครั้งแรกมีพนักงานบริษัทประกันไปสองคน สามีของคนขับรถ ตอนแรกก็ตกลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน พอมาอีกหลายสัปดาห์ก็นัดกันใหม่ ทีนี้พอเข้าไป ก็มีพนักงานประกันภัยสองคน คนเดิมนั่นแหละ คนขับรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้หญิง ร้อยเวรก็ชี้ว่าคนขับรถยนต์เป็นคนผิด ขับรถด้วยความประมาท ใช้ความเร็วสูง แต่พนักงานของบริษัทประกัน ไม่พูดไม่โต้แย้งอะไรเลย เขานั่งเงียบอยู่อย่างนั้น หลังจากที่คนขับรถยอมรับผิดทุกอย่างแล้ว ทางตร. ร้อยเวร ก็ทำสำนวนส่งศาล ศาลก็พิพากษาตัดสินไปแล้ว

มีการตกลงในชั้นสอบสวนก่อน เขาก็บอกว่าคนขับรถเบนซ์ผิด เพราะขับรถเร็ว หลังจากนั้นพ่อได้คุยกับใครที่เห็นเหตุการณ์มั้ย?

พ่อ : ไม่มีครับ

คนขับเขาบอกว่าอะไร?

พ่อ : เขาบอกว่าเขามองไม่ชัด เลยขับรถชนน้อง น้องขี่มอเตอร์ไซค์บนถนน เวลา 9 โมงเช้า น้องกำลังกลับบ้านมาหาพ่อแม่ กลับจากโรงเรียน เขาชนท้ายรถน้อง แล้วล้มมาหารถเขา รถก็ลากไปประมาณ 100 กว่าเมตร ลากรถ ส่วนน้องกระเด็นไปฝากระโปรงหรือเปล่าไม่แน่ใจ เขาพูดว่างั้น แต่ลากรถไปไกลมาก เป็นร้อยเมตร

แม่ : (เสียงสั่น) ทำใจไม่ได้ซะที

เขาแซงมาตลอด และมาชนรถน้องตอน 9 โมงเช้า น้องเสียชีวิตที่ไหน?

พ่อ : ที่รพ. ครับ อาการมีเลือดตกใน อวัยวะภายในฉีกขาด

คนขับรถเบนซ์ก็ยอมรับว่าเขาผิด?

พ่อ : ครับ ตอนแรกเขาอาจตกใจหรือกลัวหรือเปล่า เขาบอกว่าน้องขับรถออกมาจากซอย มาตัดหน้าเขา ซึ่งสภาพความเป็นจริงไม่ใช่ครับ

เพราะคลิปเห็นชัด?

พ่อ : มันเป็นความตกใจของผู้ขับ กลัวมีความผิดอะไร เลยพูดไปเพื่อให้ตัวเองถูกไว้ก่อน เพราะลูกสาวไม่ได้ออกจากซอยอะไรเลย

แม่ : เขาไม่เคยรู้จักใคร เขาตรงมาหาพ่อแม่ทุกครั้ง

การตกลงเบื้องต้นเป็นยังไง กรณีแบบนี้ปกติแล้วน่าจะจบที่ชั้นสอบสวนหรือเปล่า เวลาตร.เขายิงว่ารถคันนี้ผิด น่าจะจบตรงนี้หรือเปล่า?

ชัยยุทธ : มันแล้วแต่คดี ถ้าคดีไม่ไปต่อที่อัยการหรือศาล ถ้าตร.ชี้ว่าฝ่ายไหนผิด หรือประมาท ประกันยอมจ่ายก็จบ เรายึดถือทั้งความเห็นพนักงานสอบสวนหรือของศาล แล้วแต่คดี ถ้าทั่วๆ ไปพนักงานสอบสวนเขาชี้ ทางประกันหรือสำนักงานคปภ. ก็มีความเห็นสั่งจ่าย ให้บริษัทต้องจ่าย

วันนั้นเรื่องไม่ได้จบที่ชั้นสอบสวน แต่ถูกส่งไปชั้นศาล ประกันไม่ยอมหรือยังไง?

ชัยยุทธ : ปกติคดีอาญา พนักงานสอบสวนแล้ว มีผู้กระทำความผิดทางอาญาก็จะส่งอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาล นี่คือขั้นตอนลงโทษผู้กระทำความผิดครับ แต่ปกติถ้าเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ ตร.เปรียบเทียบปรับได้ อาจจบที่ตร.ได้ แต่อันนี้เป็นคดีอาญา ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ต้องส่งอัยการเพื่อสั่งฟ้องคดี นี่เป็นขั้นตอนตามกฎหมายคดีอาญาครับ

พอคดีถูกส่งไป ศาลตัดสินยังไง?

พ่อ : วันที่ 31 ส.ค. ศาลมีคำสั่งตัดสินว่าผู้ขับรถยนต์มีความผิด ขับรถด้วยความเร็วสูง ขับรถประมาท เจ้าหน้าที่หรือพนักงานประกัน จะรอดูว่าเขามีการอุทธรณ์อะไรมั้ย ถ้าภายใน 1 เดือนไม่มีการอุทธรณ์ ก็ถือว่าเขายอมรับตามนี้ คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว

วันนั้นศาลตัดสินให้ชดใช้เท่าไหร่?

พ่อ : 2.5 ล้าน

กี่วันประกันต้องจ่าย?

ชัยยุทธ : จริง ๆ เรื่องการจ่ายประกันกับคดีอาญาตัดสิน คนละส่วนกันนะครับ ศาลตัดสินในเรื่องคดีอาญาว่าใครเป็นฝ่ายผิด ศาลวิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ขับเบนซ์ผิด คือขับรถด้วยความเร็ว ขณะนี้ที่มีรถอยู่ข้างหน้า

อันนี้ไม่เกี่ยวกับประกัน?

ชัยยุทธ : ยังไม่ได้เกี่ยวครับ แค่ใครผิดใครถูก ศาลวินิจฉัยว่าในสภาวะเช่นนั้น รู้ว่ามีรถอยู่ข้างหน้า คนขับรถต้องชะลอ เขาได้ใช้ความระมัดระวังและชะลอความเร็วหรือไม่ ซึ่งเกิดเป็นกรณีที่กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้คนอื่นถึงแก่ความตาย ประกอบกับจำเลยรับสารภาพก็มีความผิดตามนี้ นี่คือคำบรรยายของศาล ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ทีนี้โยงประกัน ผู้ขับรถคือผู้เอาประกัน คนถูกฟ้องคือผู้เอาประกันคือผู้ขับ เขาไม่ได้เป็นคู่ความในคดี แต่ในหลักประกันก็คือว่าประกันต้องรับผิด กรณีผู้เอาประกันและผิดชดใช้ในกรณีผู้เอาประกันเอาไปกระทำความผิด นี่คือหลักประกันครับ นี่คือผู้เอาประกันไปกระทำความผิดแล้ว ศาลก็ตัดสินแล้วว่าผิด บริษัทประกันภัยก็มีหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทโต้แย้งว่าเขาไม่ใช่คู่ความในคดี และเขาก็โต้แย้งว่าคดีนี้คนของเขาไม่ได้ไปประมาทฝ่ายเดียว แต่ไม่มีหลักฐานนะ

ผู้ขับขี่มีประกันชั้น 1 ประกันต้องสั่งจ่าย แต่อันนี้คนขับผิดประกันก็ต้องจ่าย ทั้งหมดคือ 2.5 ล้าน ตัวเลขมาจากไหน?

ชัยยุทธ : เขาทำประกันไว้ 2 ส่วน คือประกันภัยภาคบังคับ ในทะเบียนแก้ไขปี 62 คุ้มครองไม่น้อยกว่า 5 แสน เขาทำประกันภาคบังคับไว้ ก็ต้องจ่าย 5 แสน กรณีเสียชีวิต กรณีภาคสมัครใจ ถ้าทำประกันไว้ไม่เกิน 2 ล้าน ก็ต้องจ่าย 2 ล้าน ก็เป็นตามนั้น ไม่ต้องมาพิสูจน์ความเสียหายที่แท้จริง ก็จ่ายไป 2.5 ล้าน เน็ดๆ เลย

ศาลได้บอกเขาหรือเปล่า?

ชัยยุทธ : อันนี้ไม่เกี่ยวกับศาลครับ ศาลแค่บอกว่าใครถูกใครผิด ประกันก็ต้องมีหน้าที่ไปบอก ถ้าคนของตัวเองผิด คุณมีหน้าที่ต้องจ่าย

พ่อทราบจากไหนต้องจ่าย 2.5 ล้าน?

พ่อ : ดูจากเอกสารที่ศาลท่านพิพากษา

สรุปว่าศาลสั่งว่าคนขับผิดจริง ประกันชั้น 1 ที่ทำเอาไว้มูลค่าที่ต้องจ่ายคือ 2.5 ล้าน ศาลท่านได้มีการเขียนเอาไว้ด้วยมั้ย?

ชัยยุทธ : ไม่มีจำนวนเงินนะ ศาลบรรเทาโทษให้คือเขาได้จ่ายค่าเสียหายบางส่วนให้คุณพ่อคุณแม่ไป 2 แสน เท่านั้นเอง แต่จำนวนเงินของประกันศาลไม่ได้พูดถึง

แต่ประกันก็ต้องจ่าย?

ชัยยุทธ : ถูกครับ เพราะคนของตัวเองไปกระทำความผิด ข้อเท็จจริงมันยุติแล้วตั้งแต่ศาลตัดสิน ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเขา

แล้วทำไมเขาไม่จ่าย ประกันมาบอกทางพ่อว่าไง?

พ่อ : ก็ไม่เคยมาพูด มาพบอะไรเลย เงียบอยู่อย่างนั้น พลิ้วเลย

พ่อเคยทวงมั้ย?

พ่อ : เคยให้ญาติทางบุรีรัมย์ เอาสำนวนมาส่งให้คปภ. บังคับจ่าย แต่คปภ. ไม่ได้ทำเรื่อง หรือไม่ได้ทำอะไรหรือเปล่า ผมก็รออยู่อย่างนั้น

ศาลสั่งว่าฝั่งคนขับผิด ฉะนั้นตามข้อเท็จจริงเมื่อคุณผิด ประกันรถคุณก็ต้องจ่าย เขายังไม่ได้ 2.5 ล้าน ประกันพูดใช่มั้ยว่าให้ไปฟ้องต่อ เพราะประมาทร่วม?

พ่อ : ครับ เขาบอกให้ไปฟ้องแพ่งต่อ

ตอนนี้ที่ได้ฟังมาจากข่าว กลับตาลปัตรไปนิดนึง แต่ธงสุดท้ายเหมือนเดิม ยังไงก็ต้องได้ 2.5 ล้าน สรุปแล้วหลังน้องหญิงถูกรถเบนซ์ชนเสียชีวิต คนขับรถเบนซ์เยียวยาไปแล้วส่วนหนึ่งประมาณ 1-2 แสน หลังจากนั้นมีการขึ้นศาล ศาลตัดสินว่าฝั่งคนขับรถเบนซ์ประมาท ทำให้คนถึงแก่ความตาย ฉะนั้นพอคนขับเป็นคนผิดปุ๊บ ประกันต้องทำงานอัตโนมัติคือต้องจ่ายเลย เพราะต้องยึดศาลเป็นหลัก ศาลตัดสินว่าผิดก็ต้องจ่าย แต่ประกันไม่ได้คุยกับพ่อ พ่อก็ไม่ได้คุยกับประกัน เรื่องมันเลยเงียบหาย พ่อเลยตั้งทนายมาหนึ่งคน พ่อให้ทนายไปติดต่อว่าต้องจ่ายเงิน 2.5 ล้าน เสร็จปุ๊บประกันทำเรื่องมาทางคปภ. เพราะทางนั้นเขาไม่จ่าย เพราะเขาบอกว่าประมาทร่วม ต้องไปร้องมาใหม่ ถามว่าประมาทร่วมคืออะไร เขาบอกรถน้องไม่มีร่องรอยถูกชนด้านหลัง แต่มีร่องรอยถูกชนด้านข้าง อันนี้ประกันเขาอ้างมาแบบนี้ เขาเลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ถูกชนท้าย หรืออาจเป็นประมาทร่วม ต้องไปร้องมาใหม่ 2.5 ล้านยังไม่ต้องเอา พ่อให้ทนายไปร้องคปภ. แต่คปภ. บอกว่ายังไง?

พ่อ : ทำไมคปภ. ไม่ใช้อำนาจบังคับบริษัทประกันให้จ่าย คปภ.มีอำนาจตรงนี้อยู่

ชัยยุทธ : ส่วนประกัน คุณพ่อได้มอบอำนาจให้ทนายความมายื่นเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 สำนักงานคปภ. ได้รับเรื่องแล้ว ตามกติกาเรา เจ้าหน้าที่ต้องส่งหนังสือให้บริษัทชี้แจงว่าทำไมเหตุการณ์เกิดขึ้นยังไง ทำไมไม่จ่าย บริษัทชี้แจงมาว่ากรณีนี้ ณ ขณะนั้นวันที่ 23 ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ที่เขาแย้งมา ที่ยื่นขอให้จ่าย ศาลยังไม่ตัดสิน พอ 31 ศาลตัดสินทีหลัง หลังเรื่องร้องเรียน ทีนี้เรารับเรื่องร้องเรียน เราก็ให้บริษัทชี้แจง สำนักงานมีระเบียบเอาไว้ว่าต้องชี้แจงภายใน 7 วัน บริษัทชี้แจงมาแล้วก็ปฏิเสธ แต่ตอนช่วงร้องเรียนมา ศาลตัดสิน เรามีเอกสาร คปภ. เลยสั่งให้บริษัทต้องจ่ายเงิน ส่งไปแล้ว แจ้งไปแล้ว บริษัทโต้แย้งกลับมา เรียนท่านว่ากรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานหรือสำนักงานคปภ. บอกว่าถ้าบริษัทโต้แย้ง เขากำหนดให้นายทะเบียน หรือเลขาธิการมีอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไม่ได้มีอำนาจในการชี้ขาดตัดสินเหมือนศาล นี่กฎหมายเขาเขียนไว้แบบนี้ กระบวนการสำนักงานคปภ. เลยมีระเบียบเรื่องร้องเรียนไกล่เกลี่ยกันขึ้นมา ถ้าหากโต้แย้งแบบนี้ ต้องใช้กระบวนการในการชี้แจงไกล่เกลี่ย หรือต้องให้อนุญาโตชี้ขาด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปตัดสินทันทีได้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บอกให้จ่ายแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แล้ว มันเข้าเหตุว่าบริษัทปฏิเสธจ่ายโดยไม่มีเหตุอันควร หรือจงใจ ซึ่ง ณ ขณะนี้ ข้อเท็จจริงมันยุติแล้ว แต่อาจล่าช้าในกระบวนการ เพราะคุณพ่อได้มอบอำนาจไปยื่นที่นนท์ แต่พอมาวันที่ 21 ต.ค. นนท์แจ้งไปแล้ว ทางเขาปฏิเสธ ทนายท่านอีกคนเลยมายื่นร้องเรียนที่สำนักงานส่วนกลางอีกที เลยยังไม่ไปไหน

สรุปเขาจะได้มั้ย?

ชัยยุทธ : เขาจะได้ เพราะตอนนี้เราส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการประวิงแล้ว

เอาชัด ๆ ?

ชัยยุทธ : ได้แน่นอน

2.5 ล้านเขาต้องได้ ถ้าเขาพลิกลิ้นอีก?

ชัยยุทธ : บทบาทหน้าที่สำนักงานคปภ. จะเข้าสู่กระบวนการเปรียบเทียบปรับ ถ้าหากไม่จ่าย คือประวิงนี่ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 5 แสน แล้วปรับรายวันไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท

ทางฝั่งสามีคนขับรถชน ทำให้น้องหญิงเสียชีวิต เขาก็ฝากถึงเรื่องประกันเหมือนกัน ว่าคปภ. มีอำนาจ แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัทจ่ายได้ เงินจำนวนนี้จะไปเยียวยาจิตใจเขาได้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้สองฝ่ายได้รับผลกระทบทางจิตใจ แม่คนตายร้องไห้ตลอด คนขับรถเบนซ์ก็ทำบุญอุทิศให้น้องตลอด?

พ่อ : อยากเรียนถามสักนิดว่าพนักงานบริษัทมีอำนาจอะไร มีสิทธิ์อะไรที่ชี้บอกว่าลูกสาวผมเป็นคนผิด ลูกสาวผมประมาทร่วม พนักงานประกันมีอำนาจอะไรชี้ขาด ทั้งที่ร้อยเวรชี้ขาดไปแล้วว่าคนขับเป็นคนผิด ศาลพิพากษาไปแล้วว่าคนขับผิด ขับรถด้วยความเร็วสูง ขับรถประมาท พนักงานบริษัทมีอำนาจอะไรมาตัดสินว่าลูกผมเป็นคนผิด ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้ว

นี่จากหัวใจชาวบ้าน?

ชัยยุทธ : ขอเรียนท่านว่าคนที่จะปฏิเสธก็แย้งได้ทั้งหมดนะครับ แต่ข้อเท็จจริงคุณจะไปปฏิเสธเฉยๆ ไม่ได้ พนักงานไปบอกเองไม่ได้ พนักงานชี้ไม่ได้

คปภ.ต้องควบคุมอีกทีมั้ย?

ชัยยุทธ : เขาก็เถียงเราเหมือนเถียงคุณพ่อนั่นแหละ แต่เรามีกฎหมายรับรอง ปัญหาคือเรากำลังจะลงโทษเขา เข้าสู่กระบวนการ มีทั้งการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งอาทิตย์หน้านัดแล้ว เดี๋ยวเราจะเร่งรัดดำเนินการให้โดยเร็ว คปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย

หลังมาคุยสบายใจขึ้นมั้ย?

พ่อ : สบายใจขึ้นมาก

ชัยยุทธ : จะหาวันและประสานให้คุณพ่อ ถ้าเขาไม่จ่ายก็โดนปรับแน่นอน และปรับทุกวัน วันละไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ตอนประกันแย้งมา เป็นประมาทร่วม ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ ณ วันนี้ศาลตัดสินแล้ว?

ชัยยุทธ : ศาลตัดสินก็ยังแย้งอยู่ ซึ่งเขาต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย

“ทนายโชติวุฒิ เขียนนิลศิริ” ทนายฝ่ายรถเบนซ์ที่ขับรถชน ตกลงเรื่องนี้ยังไง?

ทนาย : ก็ดูจากพยานหลักฐาน การชี้มูลประมูลร่วมหรือไม่อย่างไรคงไม่มีใครไปชี้ลอยๆ ได้ คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะร่องรอยการเฉี่ยวชนก็ดี หรือจุดที่เฉี่ยวชน ลักษณะรถวิ่งมามันก็ได้ข้อยุติแล้ว่ารถเบนซ์ประมาทฝ่ายเดียว ทีนี้ฝ่ายประกันเอง ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ก็มีแต่ตัวแทนมา ไม่ได้โต้แย้งเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ จนมาถึงชั้นอัยการหรือชั้นศาล ก็ไม่ได้มีตัวแทนเข้ามา ไม่ว่าจะเรื่องของการประกันตัวฝ่ายรถเบนซ์ก็ใช้เงินส่วนตัวยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ทนายก็ไม่ได้มีการจัดหาให้ ข้อเท็จจริงจึงได้ยุติแล้ว ส่วนที่ผมเองได้ฟังมาจากทางพ่อแม่น้องผู้เสียชีวิต บริษัทประกันบอกว่าต้องไปฟ้องแพ่งเอา ในมุมมองผมเหมือนลักษณะการยื้อทางแพ่ง อย่างน้อยต้องมีสองถึงสามศาล ระยะเวลาก็ใช้ไปอีก 2-3 ปี ซึ่งผมดูแล้วไม่เป็นธรรมกับฝ่ายที่เขาสูญเสีย

ขนาดทนายคนชนยังพูดอย่างนี้เลย ว่าไม่เป็นธรรมกับทางนี้ เพราะลูกความเขายอมรับผิดไปแล้ว เขายอมรับว่าฝั่งนี้น่าเห็นใจ แต่ประกันเองกลับแย้งว่าเป็นประมาทร่วม ต้องไปยื้อ แต่เรื่องนี้คปภ. จัดการแน่นอน?

ชัยยุทธ : ครับ ยืนยันครับ เดี๋ยวจะแจ้งพ่อตลอดครับ

2.5 ล้านโคตรน้อยสำหรับคนๆ นึง เพราะลูกเขาตาย น้องจะสร้างบ้านให้พ่อ หาเงินช่วยเหลือพ่อแม่ ครอบครัวเขาไม่เหลืออะไรแล้ว 2.5 ล้านคือตัวแทนลูกสาวไปช่วยเหลือเกื้อกูลเขา ให้เขาไปเถอะเพราะมันน่าอาย ดูแลเขาเถอะ ตอนนี้ยังไม่ได้ทำบุญร้อยวันเลย?

แม่ : ไม่มีเงิน บอกลูกว่าถ้าเขาชดใช้ชีวิตลูก แม่จะทำบุญร้อยวัน จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ทำบุญเลย ไม่มีเงินทำ (ร้องไห้)  

About Author