รวมพลังโนรา โชว์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน วัดเขียนบางแก้ว ร่วมเป็นสะพาน“เชื่อมความรู้ ปลุกความภูมิใจ”ให้ชุมชน

17-19 มีนาคม 2566 จะเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันที่อยู่ในการจดจำของชาวโนราหลายร้อยชีวิตที่มารวมพลังกัน ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จ.พัทลุง ภายใต้หมุดหมายเดียวกัน แสดงพลังภูมิปัญญาโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ โดยมี ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง หลอมรวมพลังกายใจเพื่อให้งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ซึ่งต่อยอดมาจากเมื่อครั้งที่เคยจัดไปแล้วในปี 2565 ณ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) จ.สงขลา หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้ “โนรา” ศิลปะท้องถิ่นใต้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา


ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส กับบทบาทความการเป็นสื่อสาธารณะตระหนักถึงการร่วมเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกระแสการ “รับรู้อย่างเข้าใจ” ให้ผู้คนในพื้นที่ตลอดถึงคนไทยทุกคนร่วมกันส่งเสริม ผลักดันอย่างถูกทิศทางก่อนโนราจะก้าวสู่เส้นทางการเป็น “Soft Power”เหมือนหลายหน่วยงานตั้งใจ

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการเฉลิมฉลองโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมทำงานกับสื่อมวลชนถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักในการรักษาอัตลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้านโนราให้ดำรงอยู่ รวมถึงเผยแพร่เรื่องราวโนราสู่วงกว้างโดยยังดำรงคุณค่าดั่งเดิมของโนราไว้ เพื่อนำสู่การสร้างรายที่ยั่งยืนให้ชาวโนราและผู้เกี่ยวข้อง กระทรวงวัฒนธรรมจึงแสวงหาความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะในปีที่ 6 ประเทศไทย ต้องส่งรายงานให้ยูเนสโกได้รับรู้ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ส่งเสริม พัฒนา สืบทอด หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวถึงบทบาทของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เราพยายามจะเป็น ”สะพานเชื่อมความรู้” ความภูมิใจในพื้นที่ไปสู่สังคมในวงกว้างให้มากขึ้น แล้วดึงเอาการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม มากไปกว่านั้นก็คือช่วยในการขับเคลื่อนให้ความภาคภูมิใจของชาวบ้านหรือพื้นที่ กลายเป็นความภาคภูมิใจของทั้งประเทศ นี่คือ หน้าที่ของทีวีสาธารณะ
การสื่อสารเพื่อเป็นสะพานเชื่อมความรู้ถึงผู้คนจึงเกิดขึ้น ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย สำหรับปีนี้พบกับมิติแห่งภูมิปัญญาของโนราที่มีรายละเอียด ลึกซึ้งกว่าเดิมอย่างเช่นกิจกรรมโนราประชันโรง ที่แทบหาชมได้ยาก แต่มีโอกาสได้รับชมในงานโนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน

โนราเดชา วาทศิลป์ โนราชาวจังหวัดพัทลุง เล่าว่าครั้งนี้ถือเป็นการรื้อฟื้นประชันโนราในแนวทางโบราณให้ได้ชมกันอีกครั้ง เกือบ 100 ปีแล้วที่ไม่มีใครได้ชมโนราประชันโรงในแบบดั่งเดิมกัน ที่เห็น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวประยุกต์ทั้งสิ้น ผมอยากชวนคนไทยที่สนใจการแสดงศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ได้มาร่วมชมโนราประชันโรงในแบบโบราณขนานแท้ โนรารำบนโรงดินที่ไม่ยกพื้นเวที รำบนลานดิน คนดูนั่งดูเสมอนักแสดง โรงโนราหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้โนราที่ประชัน ตอบโต้กลอนกันได้ และเห็นคู่ที่มาประชันกันแบบตรงไปตรงมา ถ้าอีกคณะหนึ่งรำเก่งกว่า คณะที่ประชันด้วยต้องรีบแก้แนวทางการประชันทันที โดยแต่เดิมนั้นจะใช้เวลาประชันกัน 1 คืน1วัน แต่งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่วัดเขียนบางแก้ว จัดประชันโรงแค่ 3 ชั่วโมงในรูปแบบย่อ

“ข้อดีของกิจกรรมโนราประชันโรง ทำให้โนราแต่ละคณะรวบรวมแบบแผนความรู้ในเรื่องโนรามาเพื่อการประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นท่ารำ การโต้กลอนสด การทำบท การเฆี่ยนพราย เหยียบลูกมะนาว รำเพลงปี่ ขอเทริด โต้พราน ต้องมีการเตรียมตัวและใช้ความรู้ความชำนาญในแบบเฉพาะตัว ไม่เช่นนั้นแล้วคนดูจะไม่ติดตาม ถ้าไม่ฝึกซ้อมจะรำประชันโรงไม่ได้เพราะแรงไม่พอ สมองไม่แล่น ตอบโต้ไม่ได้ แม้แต่ลูกคู่ นักดนตรีก็ต้องฝึกซ้อมหนัก ถ้าไม่ฝึกซ้อมเพื่อการประชันโดยเฉพาะจะเล่นไม่ได้เลย”

เชิญชวนทุกคนที่สนใจศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “โนรา” ติดตาม งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว เพราะไม่ง่ายนักที่คุณจะได้รับความรู้และพลังใจเมื่อได้ร่วมงานในครั้งนี้

ติดตามข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ เพจ : ไทยบันเทิง ไทยพีบีเอส

About Author