“บ๊อบ-ณัฐธีร์” ชำแหละเล่ห์กล “มิจฉาชีพไซเบอร์” เผยวิธีการใช้ “แอปฯ ดูดเงิน” เหยื่อสูญหลายแสน

ไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ อีกหนึ่งเคสที่ถูกสังคมตั้งข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก กับคดีเหยื่อถูกแก๊งมิจฉาชีพดูดเงินจากโทรศัพท์ไปเกือบแสน ผู้เสียหายกระจายข่าวเตือน อย่าโอนเงินไปบัญชี “จักรกฤษ นาผม” และ “ต่อสกุล ด่านวันดี” ดูดเงินออกจากบัญชีไปโดยที่มือไม่ได้จับโทรศัพท์และไม่ได้โหลดแอปฯ แต่อย่างใด ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะใช้โทรศัพท์ 2 เครื่อง แยกทำธุรกรรมการเงินกับใช้ทั่วไป เปิดโต๊ะข่าวชำแหละเล่ห์กลแก๊งดูดเงินในรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศข่าว “บ๊อบ-ณัฐธีร์  โกศลพิศิษฐ์” พร้อมแขกรับเชิญ ดร. ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสองผู้เสียหายร่วมตีแผ่รายละเอียด

บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้ตำรวจตรวจสอบแล้วว่าในเวลาที่เงินออกจากบัญชีไม่ใช่เวลาที่เราเล่นโทรศัพท์มือถือตอนนั้นของคุณอ๊อด (ผู้เสียหาย) โทรศัพท์อยู่ไหนยังไงครับ?                                                                                       

คุณอ๊อดผู้เสียหาย คือผมเสร็จจากธุระข้างนอกแล้วผมก็เข้ามาในบ้านเอาโทรศัพท์วางไว้เพื่อจะไปกินข้าว แล้วก็หยิบโทรศัพท์มาดูหนัง เห็นข้อความของแอปพลิเคชั่นธนาคารว่ามียอดเงินจากผมโอนเข้าไปบัญชีนี้จำนวน 13,000 บาท ตกใจมากครับ พอโดนก็เข้าไปเช็คในแอปพลิเคชั่นธนาคาร เงินไม่เหลือครับ เหลือแค่ประมาณ 50 สตางค์                                

บ๊อบ ณัฐธีร์ : แจ้งอายัดเลยไหม?                                                                                              

คุณอ๊อดผู้เสียหาย อายัดในบัญชีของเราก่อนอย่างแรก คือโทรคุยกับธนาคาร ทางธนาคารบอกว่าคุณมีใบสลิปออกมา คุณต้องกดยืนยันเลข 6 หลักถึงจะโอนให้ได้ ผมบอกว่าผมไม่ได้โอนแต่ธนาคารไม่เชื่อ ผมก็เลยพิมพ์หารายชื่อที่โอนเงินไปให้ จนไปเจอใน Facebook ก็เลยไล่หาไปเรื่อย ๆ จนไปเจอเขาเลยขอเบอร์โทร                                                                    

บ๊อบ ณัฐธีร์ : ผมบอกชื่อได้แล้วนะครับ ก็คือนายจักรกฤษ นาผม เพราะว่าตำรวจตามตัวอยู่                     

คุณอ๊อดผู้เสียหาย : ผมก็ได้โทรไปคุยกับเจ้าของบัญชี แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนอยู่กับผมหนึ่งคนให้ฟัง ผมถามว่าอันนี้เป็นบัญชีของคุณ เงินผมโอนเข้าไปบัญชีปลายทางก็คือบัญชีของคุณ เขาบอกว่าเขาเปิดบัญชีจริงแต่เปิดบัญชีให้กับเพื่อนเขาประมาณ 7 ปีที่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ทำบัตรเอทีเอ็ม แล้วก็มีผู้เสียหายอีกคนหนึ่งได้โทรหรือส่งข้อความไปหานายจักรกฤษอีก        

บ๊อบ ณัฐธีร์ : มีหลักฐานด้วย ผมจะอ่านให้คุณผู้ชมฟังนะครับ จักกฤษบอกว่า “ไม่ได้เป็นคนเอาเงินไปเนอะ ตอนนี้เงินอยู่ในบัญชีค่ะ แต่บัญชีไม่รู้อยู่ไหนค่ะ มันหายไปค่ะ เพราะมันโดนขโมยไปค่ะ” เขาเป็นผู้ชายแต่ทำไมใช้ค่ะ?                                                                                                                                 

คุณอ๊อดผู้เสียหาย : เพราะว่าเขาเป็นสาวประเภทสองครับ การคุยของนายจักรกฤษกับผมแล้วก็พี่ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งคือประเด็นไม่ตรงกัน คำพูดยังกำกวมอยู่ ตรงนี้ยังเป็นข้อสงสัยอยู่

บ๊อบ ณัฐธีร์ : แต่ว่าไม่ใช่บัญชีเดียวครับ ของคุณซัน (ผู้เสียหาย) โดนโอนไปที่บัญชีไหนครับ?                     

คุณซันผู้เสียหาย : นายต่อสกุล ด่านวันดี ครับ ตอนนั้นผมไม่ได้เล่นโทรศัพท์เลย ชาร์จแบตทิ้งไว้ครับ มันเป็นช่องโหว่ สายชาร์จแบตเป็นของผม ซื้อมาจากเซเว่นครับ หัวชาร์ทก็แถมมาจากเครื่องครับของแท้ครับ                                                     

บ๊อบ ณัฐธีร์ : ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายสายชาร์ท หัวชาร์ทที่คนกำลังสงสัยนะ ก็ตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเพราะมันคือของเรานะ แล้วเงินออกจากบัญชีไปเท่าไหร่ครับ                                                                                                                                  

คุณซันผู้เสียหาย 92,709 บาทครับ ผมรู้เมื่อตอนเกือบบ่ายสามโมงครึ่ง ผมเข้าไปในแอปพลิเคชั่นของธนาคาร เข้าไปดูมันจะมีอยู่ด้านล่างแอปพลิเคชั่นแจ้งว่าได้โอนเงินไป แล้วผมก็ตกใจครับตอนนั้น มารู้ว่าเป็นมิจฉาชีพตอนที่ว่าผมทักแชทไปถามรุ่นพี่กับเพื่อนครับว่าเงินผมได้โอนออกไปเองว่าโทรศัพท์โดนแฮ็ค รุ่นพี่ก็เลยไปหาข้อมูลของนายต่อสกุล ไปเจอในแบล็คลิสต์ครับ                                                                                                                                                               

บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้ตำรวจสันนิษฐานว่ามาจากแอปพลิเคชั่นหาคู่?                                                     

อ.ปริญญา : คือแอปพลิเคชั่นมันต้องมีการดาวน์โหลดครับ แล้วก็การที่โปรแกรมโจรจะเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เราได้แบบนี้มันมีหลายทาง เหมือนการรีโมทเข้ามาควบคุมเครื่องโทรศัพท์เรา แต่ว่ามันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนที่มันจะรีโมท ไม่ใช่อยู่ ๆ มันจะมารีโมทเครื่องโทรศัพท์เราได้ ถ้าเราไม่ได้ไปดาวน์โหลดอะไรมาแบบแปลก ๆ มันจะไม่สามารถเข้ามาที่เครื่องโทรศัพท์เราได้                                                                                                                                                                            

บ๊อบ ณัฐธีร์ : แสดงว่ามันต้องมีโปรแกรมอะไรบางอย่างที่ฝังอยู่ในเครื่องเราแล้วเขารีโมทเข้ามา                  

อ.ปริญญา : ต้องขอเรียนแบบนี้ครับ บางท่านก็บอกว่าไม่ได้กดลิ้งก์ SMS อะไรเลย แต่มันมาได้หลายทาง ผมสรุปให้ 3 ทางก็แล้วกัน 1. SMS ส่งมาบอกว่าเราถูกรางวัลหรือได้สิทธิต่าง ๆให้เรากดเข้าลิ้งก์ พวกท่านได้รับ SMS อะไรบ้างไหม 2.คือเข้าเว็บไซต์ ในระบบแอนดรอยด์มันจะมีโครมบราวเซอร์อยู่ พอกดเข้าไปมันจะไปเข้าเว็บไซต์บางครั้งเราเข้าเว็บไซต์ไป ในเว็บไซต์มันจะมีโปรแกรมพวกนี้รออยู่ แค่เข้าเว็บไซต์ไปมันจะมีป๊อบอัพขึ้นมาถามข้อมูลต่า งๆ ให้เราตอบคำถาม ถ้าเรากดตอบคำถามไม่ว่าจะตอบ yes หรือ no โปรแกรมมันก็จะทำงาน 3. 3 คือการดาวน์โหลดโปรแกรมนอก App Store หรือ Play store อย่างระบบแอนดรอยด์ โปรแกรมมันเป็นลิ้งค์ให้เรากดเราไปกดอะไรอาจจะมาทางโซเชียลมีเดียเช่น Line , Facebook , Messenger หรืแอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ให้เราลงโปรแกรมมันก็ไปโหลดไฟล์นามสกุล .apk ท่านผู้ชมจำไว้เลยย่อมาจาก Android package แต่บางครั้งมันเป็นลิ้งก์แปลก ๆ แฝงมา พอเรากดเข้าไปมันก็ดาวน์โหลดโปรแกรม มันก็อาจจะเป็นไปได้ หรืออีกหนึ่งกรณีที่พึ่งได้ยินมาว่าไปซื้อโทรศัพท์มาอาจจะเป็นโทรศัพท์มือสอง หรือว่าให้ร้านขายโทรศัพท์ทำให้บางทีมันพรีโหลดมา หมายความว่าไปซื้อโทรศัพท์มือถือมือสองมา แต่มันโหลดโปรแกรมพวกนี้มาเรียบร้อยแล้ว   

ติดตามรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศษฐ์” เจาะลึกกันแบบสด ๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/fukGGdtMHZ0

About Author