เสวนาแนวทางการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน

คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา โดยพลเอก ดร.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม และ สว. สุรเดช จิรัฐิติเจริญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการคมนาคมบก-ราง จัดการสัมมนาหัวข้อ”แนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และจีน” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2565 เพื่อเก็บข้อมูลสนับสนุนและเติมเต็มการศึกษาการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางและการเชื่อมต่อระบบการขนส่งสินค้าทางรางระหว่าง 3 ประเทศ เผยเป็นการศึกษาการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางของไทย ที่ต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2564-2565

เมื่อเร็ว ๆ นี้ (8 ธ.ค. 2565) อาจารย์ ดร.สุนทร ผจญ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการคมนาคมทางบก-ทางราง วุฒิสภา และหนึ่งในผู้จัดการสัมมนา หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และจีน” ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดการสัมมนา เพื่อร่วมกันนำเสนอแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างประเทศไทย – สปป. ลาว และจีน มีการะดมความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส ความเป็นไปได้ ปัญหา และอุปสรรคในการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว – จีน

อาจารย์ ดร.สุนทร กล่าวว่า “การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลสนับสนุนและเติมเต็มการศึกษาการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางและการเชื่อมต่อระบบการขนส่งสินค้าระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งเป็นการศึกษาการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศไทย ที่ต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2564-2565 เชิงคุณภาพและเชิงปฏิบ้ติการ โดยทำการศึกษาแผนงาน ผลงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางและการเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และ จีน. ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางบกและทางราง เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางของประเทศไทย ยังมีสัดส่วนที่น้อย (1.44%) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขนส่งทางถนนและทางน้ำ”

การสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมนำเสนอแนวทางได้แก่ นางสาวจีระวรรณ หงสกุล ผู้อำนวยการกองกับกิจการขนส่งทางราง กรมการขนส่งทางราง นายสัทธา วนลาภพัฒนา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงองค์กร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา

นอกจากนี้ ยังมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส ความเป็นไปได้ ปัญหา และอุปสรรคในการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว – จีน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น. อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. นายวรรณศักดิ์ ทรายแก้ว เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ นายอุดร คงคาเขตร กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน นายกำพล. บุญชม. รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย ดร.พีระกันต์. แก้ววงศ์วัฒนา. อนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาในครั้งนี้ ผู้ร่วมงานทราบความเคลื่อนไหวการขนส่งทางรางใน South East Asia โดยเฉพาะในประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยที่ต้องเร่งดำเนินการการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย ลาวและจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าสะพานเชื่อมระบบรางไทย-ลาวแห่งที่ 2 และสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา จังหวัดหนองคาย จะแล้วเสร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า (ประมาณ ปี 2572-2573) การดำเนินการ จะช้าไปหรือไม่ ทำให้เสร็จเร็วภายใน 4 ปีได้หรือไม่. เนื่องจากการก่อสร้างเสร็จล่าช้าอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสด้านการค้าได้. นอกจากนั้นยังมีเรื่องการพัฒนารถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการขนส่งทางรางในระดับภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ. ทั้งหมดเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา จะสรุปผลการศึกษาการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบรางระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาต่อวุฒิสภาและรัฐบาลเพื่อเร่งพัฒนาการเชื่อมโยงระบบรางต่อไป.

About Author