แพทย์เผยนวัตกรรม ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง 

หวังเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้หญิง กระตุ้นเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ไม่พบเชื้อวันนี้ อีกห้าปีค่อยมาตรวจอีกครั้ง

กรุงเทพมหานคร, 7 กันยายน 2565 — บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จัดงานเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “ผู้หญิงต้องรู้! ทางเลือกใหม่ ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง” เพื่อให้ความรู้ และข้อมูลความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ แก่ประชาชน โดยเฉพาะสตรีกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบัน สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ในโรงพยาบาล หวังเพิ่มทางเลือกใหม่ในการตรวจฯ ลดปัญหาความกังวลใจด้านต่าง ๆ อาทิ กลัวเจ็บ อายแพทย์ ตลอดจนความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันสิทธิ์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมการตรวจ รักษา มั่นใจแนวคิดตรวจพบ (เชื้อเอชพีวี) เร็ว สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกและเสียชีวิตได้ ผ่านช่องทางยูทูป ไลฟ์ https://www.youtube.com/watch?v=jU0tvmPRpgE Roche Diagnostics Thailand ของบริษัทฯ

โดย นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช เผยว่า แม้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่มะเร็งที่ป้องกันได้ หากได้รับการตรวจคัดกรองฯ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมีระยะเวลาการดำเนินโรค 10 ปี  ตั้งแต่ได้รับเชื้อและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลส์ จนกระทั่งพัฒนาเป็นมะเร็ง 

“ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจากการคาดการณ์จำนวน 5,422 ราย ในปี 2017  และลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง 5,320 ราย ในปี 2020 ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกอยากให้ทุกประเทศลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็น 4 ต่อ 100,000 คน ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างเข้มข้น รวมกับการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน  ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงละเลย ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาทิ ไม่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูง (สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18) หากตรวจพบเชื้อเร็วก็สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เชื้อดังกล่าวจะทำให้เซลส์ผิดปกติ และพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ นอกจากนั้น ยังเกิดจากเหตุผลส่วนตัว เช่น กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ อายแพทย์ และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ และรักษาหากพบว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น ทำให้หลายคนเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการ และพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ซึ่งน่าเสียดายหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ในที่สุด

เมื่อมีการเพิ่มทางเลือกในการตรวจให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งต่างจากการตรวจแบบ แปปสเมียร์ ที่เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งต้องรอให้เซลล์ผิดปกติไปแล้วจึงจะตรวจพบ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสบายใจในการเข้ารับการตรวจให้แก่ผู้ป่วยได้ และจะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที” นายแพทย์ปิยวัฒน์ กล่าว

ด้าน ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยมีนโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา ตลอดจนระบบสุขภาพ และการสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งจากรัฐบาลดีอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก การนำนวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ถือเป็นหนึ่งใจความตั้งใจพยายามผลักดันให้ประชาชนตระหนัก และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเห็นความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรอง รวมถึง สิทธิการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของสถาบันฯ พร้อมกล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า  มุ่งเน้นการตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ทั่วประเทศ

“สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อยังต้องดำเนินการโดยนักเทคนิกการแพทย์ตามแนวเวชปฏิบัติ  ในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกให้แพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่างให้เช่นเคย หรือจะเลือกเก็บตัวอย่างเองก็ได้ ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างตามคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดและถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยทำการสว็อบตัวอย่างทางช่องคลอดด้วยไม้สว็อบตามคำแนะนำในห้องน้ำ ก่อนจะนำผลที่ได้ใส่ในกล่องเก็บสิ่งส่งตรวจให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อทราบผลการตรวจคัดกรองฯ จากแพทย์ หากพบเชื้อเอชพีวี ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแพทย์ได้แต่เนิ่น ๆ ในขณะที่หากผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ เอชพีวี ผู้ป่วยก็สามารถวางแผนการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ใหม่อีกครั้งในอีก 5 ปี ไม่ต้องจำเป็นต้องตรวจทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่แตกต่างจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเดิม” ดร.ศุลีพร กล่าวเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่เป็นทางเลือกใหม่ที่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ และเลือกดำเนินการตามความต้องการและตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของตนเองได้

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของ สปสช. ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ความครอบคลุม และกลุ่มประชาชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ตลอดจนหากพบผู้ป่วย และมีการรักษา

“ปัจจุบัน สปสช. มีการบูรณาการโครงการรณรงค์การตรวจ คัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์  ให้กับผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ จากที่เคยใช้การตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ (Pap smear) แต่ในปีนี้ก็ได้มีการปรับวิธีการตรวจใหม่โดยใช้เทคนิค เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ หรือการตรวจด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและมีความไวที่สูงกว่า รวมทั้งทางเลือกใหม่ล่าสุดคือการตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะสามารถทราบผลได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปีทั้งสิ้นกว่า 822,301 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสรักษาได้หากรับการดูแลในระยะเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการตรวจคัดกรองและเป็นไปตามแนวทาง (Guideline) ฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย บอร์ด สปสช. จึงมีมติให้เพิ่ม “สิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์” เพื่อทดแทนวิธีแปป สเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิคเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ นั้นใช้งบประมาณเทียบเท่ากับการตรวจด้วยเทคนิคเดิม แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมาตรวจกันมากๆ ฉะนั้น ทางเลือกในการตรวจคัดกรองแบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองที่เพิ่มเข้ามานี้ รวมทั้ง การจัดให้มีหน่วยออกตรวจประชาชนในพื้นที่ และสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ของประชาชน ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand) และบริการกระเป๋าสุขภาพผ่านทางแอปพลิเคชั่น เป๋าตังค์ หรือเว็บไซต์” ทพ.อรรถพร กล่าวเสริม

ด้านนายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วงการสาธารณสุข และเฮลธ์แคร์ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก ต่างมีโจทย์ใหญ่ในการกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไป และทำอย่างไรที่จะลดความกังวลของผู้หญิง และเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนามานวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บสิ่งส่งตรวจ หรือเก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเองขึ้น ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก

“โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) เองในฐานะผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และผู้สนับสนุนงานเสวนาในวันนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ  ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือตรวจวิเคราะห์  เพื่อตอบโจทย์การตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกัน ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ หวังว่าข้อมูลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขายั่ง เป็นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้สุภาพสตรีทั้งหลาย เข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้น เพื่อตัวท่านเอง และคนที่ท่านรัก” นายพิเชษฐพงษ์ กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี

ฮิวแมน ปาปิโลมา ไวรัส (เอชพีวี) คือเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะตรวจพบได้ในเซลล์ทุกระยะของการดำเนินโรค และเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 5 ในผู้หญิงไทย  ไวรัสเอชพีวี มีกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่มีเพียง 14 สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็งปากมดลูกโดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70%  ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบเอชพีวี diagnostics.roche.com/cervicalcancer  หรือ cervicalcancer-screening.com

เกี่ยวกับการตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์

การตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจถึงระดับดีเอ็นเอ เพื่อหาเชื้อเอชพีวี ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อระบุหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งหรือภาวะก่อนมะเร็งในสตรี  มีการเก็บตัวอย่างแบบเดียวกับการตรวจแบบแปบสเมียร์ แต่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ เพื่อระบุหาเชื้อเอชพีวีจากดีเอ็นเอของเชื้อโดยตรง สามารถเว้นระยะการตรวจได้ถึง 3-5 ปี หากผลตรวจไม่พบเชื้อ อีกทั้ง ยังเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวีความเสี่ยงสูง เพื่อระบุถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก และมีความไวในการตรวจเจอความผิดปกติ 92%

เกี่ยวกับการทดสอบเชื้อเอชพีวีด้วยเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ

การทดสอบเอชพีวี ถูกระบุให้ใช้สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ ตามแนวทางของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง การคัดกรองหาเชื้อเอชพีวีเบื้องต้นการทดสอบร่วม (หรือการตรวจคัดกรองเสริม) ด้วยเซลล์วิทยา และสำหรับสตรีที่มีเซลล์วิทยาผิดปกติ เพื่อประเมินความเสี่ยงของปากมดลูกระยะก่อนมะเร็ง และระยะมะเร็ง ประสิทธิภาพการทดสอบสำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างแบบใหม่นี้ แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างจากช่องคลอดที่เก็บด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลในการทดสอบนั้นมีความสมบูรณ์เพียงพอ และให้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่ากับการเก็บตัวอย่างเชื้อที่ปากมดลูกที่เก็บโดยแพทย์

การทดสอบเชื้อเอชพีวี ได้มีการอนุมัติโดย FDA (องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา) จากผลการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่ถึงประสิทธิภาพการตรวจหาเอชพีวีว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยใช้การทดสอบจากเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรอง (Primary Screening) มะเร็งปากมดลูกได้  โดยการทดสอบจะสามารถระบุการพบดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ได้  ซึ่งเป็นสองสายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ของสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด  และยังสามารถรายงานผลรวมของเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงอีก 12 ชนิด ได้จากการทดสอบเดียวและจากตัวอย่างผู้ป่วยรายเดียว ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบเอชพีวีได้ที่ diagnostics.roche.com/cervicalcancer หรือ cervicalcancer-screening.com  

เกี่ยวกับโรช 

โรชก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยารายแรกๆ จวบจนวันนี้ โรชเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำทางด้านศาสตร์แห่งการตรวจวินิจฉัยแบบภายนอกร่างกาย (in-vitro diagnostics) บริษัทฯ มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเวชภัณฑ์ รวมถึงวิธีการตรวจวินิจฉัย เพื่อรักษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก โรชคือผู้ริเริ่มรูปแบบการดูแลรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) และมุ่งหวังที่จะพลิกโฉมบริการด้านเฮลต์แคร์ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ มากมายเพื่อส่งมอบการดูแลที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับแต่ละบุคคล โดยการผสานความแข็งแกร่งของงานด้านเวชศาสตร์ เข้ากับศาสตร์แห่งการวินิจฉัย และใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการปฏิบัติงานจริงทางการแพทย์

ทั้งนี้ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices, DJSI) ได้ยกย่องให้โรชเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในวงการเภสัชกรรมเป็นระยะเวลาติดต่อกันมาแล้วถึง 13 ปี ถือเป็นเครื่องยืนยันความอุตสาหะ และความมุ่งมั่นในการดำเนินตามวิสัยทัศน์ของโรชได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของโรชในการเพิ่มการเข้าถึงบริการเฮลต์แคร์ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ

ยีนเอ็นเทค (Genentech) ในสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่กลุ่มบริษัทโรชเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด และโรชเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ชูไก ฟาร์มาซูติคอล (Chugai Pharmaceutical) ในประเทศญี่ปุ่น

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชม www.roche.com 

About Author