นศ.คณะสื่อสารฯ มทร.พระนคร ยกอาณาอาณาจักรทวารวดี นำเสนอผ่านเกมVR

เกมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความผ่อนคลาย ซึ่งเกมบางประเภทยังเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้มากมายและหลากหลายที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ และค้นหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลกได้นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งนางสาวศิรประภา ภูวงศ์ นายธนภัทร เขตร์สุพรรณ และนางสาววันทนีย์ ธนิศรทวีสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้ร่วมกันผลิตผลงานเกมล่าโบราณวัตถุในสภาพแวดล้อมโบราณสถานเสมือนจริง (The Treasure Hunting in Real Ancient Ruin Simulation Game) โดยนำเทคโนโลยีอุปกรณ์การเล่นเกม Virtual Reality (VR) เข้ามาใช้

ศิรประภา ภูวงศ์ หรือ น้ำหนึ่ง หนึ่งในทีมผู้ผลิตเกมล่าโบราณวัตถุในสภาพแวดล้อมโบราณสถานเสมือนจริง เล่าว่า สนใจการเล่นเกม และชอบศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จึงมีแนวความคิดอยากนำมาทำเป็นผลงานตอนเรียนจบ ซึ่งเพื่อน ๆ ในกลุ่มมีแนวความคิดที่เหมือนกัน จึงชวนกันเริ่มศึกษาตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 2 โดยมีผศ.ดร.ฉันทนา ปาปัดถา และผศ.ดร.ดลพร ศรีฟ้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เป็นที่ปรึกษางานดังกล่าว โดยเริ่มจากการศึกษาประวัติของอาณาจักรทวารวดี เป็นหนึ่งในแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง มีวัตถุโบราณและสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจ จึงเริ่มการสืบค้นจากกรมศิลปากร การเข้าไปเก็บรวบรวมภาพและข้อมูลที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม หลังจากนั้นรวบรวมข้อมูลนำมาสร้างเป็นเกมล่าโบราณวัตถุในสภาพแวดล้อมโบราณสถานเสมือนจริง ใช้เทคโนโลยีเกม VR  ซึ่งเป็นเกมจำลองในรูปแบบเกมผจญภัยตามล่าหาสมบัติ ผสมผสานระหว่างความแฟนตาซีกับศิลปะโบราณวัตถุ และมีการใช้โบราณสถานที่จริงมาผสมผสานกันให้เข้ากับเกมและแทรกเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไป ทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสกับประสบการณ์จำลองที่เสมือนจริง และยังเป็นการอนุรักษ์ด้านประวัติศาสตร์ อีกทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบัน นอกจากความรู้ที่ได้รับยังเพิ่มความสนุก ความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นผ่านลูกเล่นการค้นหาสิ่งของอย่างเหรียญโบราณ วัตถุโบราณที่หายาก เข้าไปในเกมอีกด้วย

ด้าน นายธนภัทร เขตร์สุพรรณ หรือแบงค์ เล่าเสริมว่า การทำงานครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การค้นหาและเรียบเรียงข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนการทำงาน ต่อจากนั้นเป็นการวาดStory Board ออกแบบฉากด้วยมือ และนำไปวาดโดยใช้โปรแกรมAdobe Illustrator ปั้นโมเดล ปั้นฉาก ทำพื้นผิวด้วยโปรแกรม Autodesk 3D Studio Max และสุดท้ายการเขียนระบบเกมVirtual Reality โดยนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับจากในห้องเรียน “ผมคิดว่าเกมสำรวจโบราณสถานของอาณาจักรทวารวดีในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะโบราณวัตถุอาทิ วัตถุโบราณ เศียรพระพุทธรูป เหรียญกษาปณ์ ประติมากรรมปูนปั้นสิงห์ ยังจะช่วยส่งเสริมทักษะการสังเกตให้กับเยาวชนอีกด้วย ”

ผศ.ดร.ฉันทนา ที่ปรึกษาผลงานเกมล่าโบราณวัตถุในสภาพแวดล้อมโบราณสถานเสมือนจริง กล่าวว่า สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เน้นการสร้างนักปฏิบัติการมัลติมีเดีย แอนิเมชัน และเกมมืออาชีพที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้สอดรับกับสื่อในยุคดิจิทัล โดยเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย การออกแบบเทคนิคพิเศษ การออกแบบอินโฟกราฟิก โมชันกราฟิก แอนิเมชัน การพัฒนาเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เกม 2 มิติ และ 3 มิติ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) เพื่อการต่อยอดโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต สำหรับโครงงานพิเศษนี้นักศึกษาต้องร่วมกันผลิตผลงาน 1 ชิ้น โดยนำความรู้ ความสามารถที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 3 ปี สำหรับผลงานนักศึกษาที่ทำสำเร็จจะถูกนำไปจัดแสดงและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ผ่านการจัดนิทรรศการของสาขาวิชาฯ โดยจะจัดเป็นประจำที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และเลือกผลงานบางส่วนไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ของ มทร.สุวรรณภูมิ พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อโชเชียลต่าง ๆ

About Author