ละคร “มงกุฎกรรม” ส่งเสียงสะท้อนสังคมไทย ปม “พ่อเลี้ยงข่มขืนลูก” และ “ลูกหลากเพศ” ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร!?

หลายเรื่องราว หลายเหตุการณ์ ทำให้ทุกคนต้องย้อนกลับมาดูตนเอง เมื่อได้ชมละคร “มงกุฎกรรม” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เพราะเป็นละครสะท้อนสังคมในยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีภัยสังคมต่าง ๆ สอดแทรกให้ผู้ชมได้รับรู้และรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ

อย่างในละครอีพีที่ผ่านมา ชีวิตของจันทร์ ได้นักแสดงมากความสามารถอย่าง “แอน สิเรียม” มาร่วมรับบทบาทถ่ายทอดหญิงสู้ชีวิต ที่หอบลูกหนีจากสังคมครอบครัวที่ไม่เห็นค่าของเธอ ออกมาเผชิญสู่โลกอันกว้างใหญ่พร้อมลูกน้อยทั้ง 4 คน ทำให้ชีวิตจันทร์ต้องยอมตกเป็นเมียน้อย เพื่อที่จะให้ลูกได้เรียนหนังสือและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่นั่นก็ไม่สวยหรูเมื่อลูกสาวคนโตอย่าง ดวงใจ อาจต้องฝังใจเจ็บไปตลอดชีวิต เพราะเจอพ่อเลี้ยงที่ไม่ดี เธอเกือบจะถูกปลุกปล้ำ จนทำให้ดวงใจฉุกคิดว่าจันทร์เองก็เคยสั่งสอน แนะนำวิธีเอาตัวรอดจากผู้ชาย ที่หวังหลอกล่อเด็กสาวมาเป็นเหยื่อตัวเอง ด้วยคำว่า “ถ้าหากมีผู้ชายมายุ่ง หรือทำร้ายลูก หนูต้องถีบไปที่เป้ามันให้เต็มแรงเลยนะลูก” ซึ่งถือว่าจันทร์ได้ทำหน้าที่สอนให้ลูกป้องกันตัวเองเบื้องต้น และเธอเองก็ยังรับฟังปัญหาของลูก ช่วยเหลือลูกสาวจนสุดกำลังที่ทำได้ในที่สุด แต่หากย้อนมองในมุมกลับ หากไม่ใช่ละครแต่กลับเป็นเหตุการณ์จริง ต้องมีอะไรอีกไหม ที่เด็กสาว หรือคนที่อ่อนแอจะต้องรู้และป้องกันตัว เพราะความขาดสติของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ไม่แยกแยะศีลธรรมความผิดชอบชั่วดี วันนี้เลยขอเอาคำแนะนำ สอนลูกเราอย่างไร ไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศ เพราะสมัยนี้ไม่ว่าเพศไหน ๆ ก็สามารถเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ได้ทุกคน

            1.ละเมิดสิทธิ หากเรามีลูกไม่ว่าเป็นชาย หญิง หรือ LGBT เราควรสอนเขาให้รู้จักป้องกันสิทธิของตัวเอง ไม่ให้ใครมาจับนม หรืออวัยวะเพศสำคัญของเรา โดยที่เราไม่เต็มใจ หรือแม้กระทั่งเรา ก็ห้ามไปจับของคนอื่นเช่นกัน (หากลูกโตพอจะเรียนรู้ ก็ควรสอนเพศศึกษาแบบละเอียด)

            2. สิทธิในร่างกายตนเอง ควรสอนลูกๆว่า เรานั้นมีสิทธิที่เป็นเจ้าของร่างกายของตัวเองในทุกๆส่วน และยังมีสิทธิปฏิเสธ ไม่ให้ใครมาวุ่นวาย และแตะต้องร่างกายเราได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนใน หรือนอกครอบครัว หากเราไม่เต็มใจ แม้กระทั่งการสั่งให้ลูกไปกอดหอมใคร หรือให้ใครมากอดหอมลูก โดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ เพราะลูกจะสับสนในเรื่องของสิทธิในร่างกายตนเอง และให้บอกว่าพ่อกับแม่ไม่ให้ทำ

            3. การข่มขื่น ไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ  เพราะคนที่ถูกกระทำส่วนมาก มักหาเหตุผลร้อยแปด ถามว่าทำไมตนเองถึงถูกกระทำ หรือเราแต่งตัวโป๊ไป หรือเมาจนดูแลตัวเองไม่ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิด แต่ “ไม่มีใครจะมีสิทธิที่จะข่มขืน หรือละเมิดใคร” ได้ต่างหาก และห้ามให้ลูกกลัวที่จะบอกความจริง

            4. พ่อและแม่ จะอยู่กับลูกเสมอ ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร คนเป็นพ่อและแม่ จะต้องหันมารับฟัง และเป็นที่พึ่งของลูกได้เสมอ และควรสอนให้ลูกรู้ว่าเราจะคอยอยู่เคียงข้าง และหากใครทำให้รู้สึกอึดอัดใจ เราจะอยู่รับฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หรือเรื่องของใครก็ตาม

            5. ลับตาคน  ควรสอนลูกในเรื่องของการอยู่สองต่อสองในที่ลับตาคน หรือที่เปลี่ยว หากลูกรู้สึกไม่สบายใจ หรือกลัวว่ามีอันตราย ควรหาคนที่ไว้ใจไปเป็นเพื่อนเสมอ เพราะเหตุการณ์ในละครจะไม่เกิดขึ้นหากดวงใจ ตัดสินใจตามแม่ หรือน้องๆไปห้องน้ำด้วย จนเป็นเหตุให้พ่อเลี้ยงเข้าหวังจะข่มขืน

ยังคงมีอีกหลายคำแนะนำ ที่จะทำให้ลูกๆของเรา ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ แต่ 5 ข้อที่กล่าวมานั้น ได้ตรงกับสิ่งที่ตัวละครของจันทร์ ในละคร “มงกุฎกรรม” สอนลูก ให้รู้จักเอาตัวรอดเป็นยอดดี ประเด็นหลักไม่ใช่ เพราะใครที่จะทำเรา แต่จันทร์ควรสอนลูกๆรู้จักป้องกัน และเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะออกไปเปิดประสบการณ์ของตัวเองในโลกกว้าง แถมลูกๆจะมีภูมิที่จะไม่ฝังใจกับเรื่องเลวร้าย และปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนที่ตัวละคร “ดวงใจ” กำลังเป็น เพราะผู้ชายบางคนที่หลงผิด ชอบเห็นคนที่อ่อนแอเป็นแค่เครื่องมือในกามรมณ์ ถ้าหากคิดยับยั้งชั่งใจ สังคมคงน่าอยู่กว่าเดิม…

About Author