พ่อเด็ก 12 ร่ำไห้ใจสลาย ลูกนอนรอผ่าตัดไส้ติ่ง ข้ามวันข้ามคืน สุดท้ายล่าช้าไส้ติ่งแตก

ติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ผอ.รพ.อ้างแพทย์ผ่าตัดล้า มีปัญหาเรื่องระบบสื่อสาร

กรณีครอบครัว “น้องต้นน้ำ” เด็กชาย วัย 12 ปี ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต หลังพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยแพทย์บอกว่ามีคนไข้พิเศษ เป็นเหตุให้ลูกชายต้องนอนรออยู่ที่ รพ. ถึง 2 วันยังไม่ได้ผ่าตัด จนสุดท้ายลูกชายไส้ติ่งแตก และติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต ไม่ได้รับคำชี้แจงจากแพทย์ถึงสาเหตุที่ไม่ยอมทำการผ่าตัดให้ ต้องร้องสื่อขอความเป็นธรรม  

รายการโหนกระแสวันที่ 7 มิ.ย. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ พ่อสมบูรณ์ พ่อน้องต้นน้ำ, ป้าผึ้ง, น้าสุ มาพร้อม ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ  

คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกัน ใครดูน้องต้นน้ำ?

พ่อสมบูรณ์ : อยู่กับผม และคุณย่า แม่น้องไปมีครอบครัวใหม่

เหตุการณ์เกิดวันไหน?

พ่อสมบูรณ์ : เสาร์ 28 พ.ค. ผมเลิกงานมาตอนเย็น น้องปวดท้อง ผมถามว่าปวดตรงไหน เขาบอกปวดตรงกลาง ผมก็บอกว่างั้นพาไปหาหมอพาไปพุทไธสง ไปห้องฉุกเฉิน เขาก็ให้รอแป๊บนึง ผมก็ถามน้อง น้องบอกว่าไม่ปวดแล้ว ก็พากลับบ้าน จนวันที่ 29 น้องเริ่มปวดแรงแล้ว ก็ร้องไห้ ผมก็พาไปหาหมอที่เดิม เขาก็ให้เข้าห้องฉุกเฉิน บอกว่าน้องต้องส่งตัวไปที่บุรีรัมย์ อาจเป็นไส้ติ่ง

พุทไธสงคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้ว ต้องส่งตัวไปรพ.ศูนย์บุรีรัมย์?

พ่อสมบูรณ์ : ครับ เราก็ส่งเที่ยงเลย ไปรถหวอ รพ. เปิดไซเรนไปเลย ตอนนั้นน้องปวดหนักไม่ไหวแล้ว ไปถึงรพ.ศูนย์บุรีรัมย์บ่ายสาม เขาก็พาเข้าห้องฉุกเฉินอีก พวกผมก็มานั่งรอข้างนอก แล้วเขาพาไปที่ห้องพักคนป่วย

เขาทำอะไรบ้าง?

พ่อสมบูรณ์ : ยังครับ บ่ายสาม ก็เข็นขึ้นไปที่ห้องรวมคนป่วย บอกว่าให้น้ำเกลือรอดูอาการ ดูมาเรื่อยๆ หมอใหญ่มาดูว่าเป็นผ่าติ่ง ต้องผ่า เขามาดูประมาณบ่ายสาม กำหนดผ่าในตอนแรก 5 โมงเย็น

แล้วได้ผ่ามั้ย?

พ่อสมบูรณ์ : ไม่ได้ผ่า เพราะความดันน้องยังไม่ได้ ความดันต่ำ ให้น้ำเกลือต่อ ก็จนถึง 5 ทุ่มเที่ยงคืน

ให้น้ำเกลือให้ยาดึงความดัน จนถึงห้าทุ่ม พ่ออยู่กับน้องตลอด อาการน้องเป็นยังไง?

พ่อสมบูรณ์ : ปวดท้องทุรนทุราย ดิ้นไม่ไหว

6-7 ชม. หลังจาก 5 ทุ่มเป็นไง?

พ่อสมบูรณ์ : ก็เข็นไปผ่า แต่รอ 20 นาทีเขาก็เข็นออกมา เขาบอกว่ารอเคสพิเศษยังไงก็ไม่รู้ รอผ่าคนอื่น คนเข็นเปลบอกแบบนั้น ตอนห้าทุ่มกว่า ๆ หลังจากนั้นก็เอาน้องกลับคืนที่เดิม นอนรอเรื่อยมาตลอดจนถึงเช้าวันจันทร์

ตอนห้าทุ่มกว่า ๆ หลังออกจากห้องผ่าตัด ช่วง 5 ทุ่มครึ่งไปถึงเช้าน้องมีอาการยังไง?

พ่อสมบูรณ์ : ปวดอยู่อย่างนั้น ดิ้นทุรนทุรายเหมือนเดิม

หมอใหญ่มาตรวจอีกมั้ย ห้าทุ่มกว่าถึงเช้า?

พ่อสมบูรณ์ : พอพยาบาลให้น้ำเกลือเสร็จ น้องปวดท้องไม่ไหวแล้ว พ่อก็พูดว่าไม่ไหว แล้ว 7-8 โมงเช้าหมอใหญ่มาดูว่าเป็นไส้ติ่ง แล้วก็แตก ความดันน้องไม่ได้ ต่ำลงอีก เขาก็ใส่ท่อช่วยหายใจ ว่าจะไปผ่าตอนช้าแต่ความดันไม่มา ก็รอถึงบ่ายสาม ถึงเข้าไปผ่า แล้วส่งน้องไปไอซียู หลังจากนั้นหมอก็แจ้งเรื่อย ๆ ไม่ได้เข้าไปเฝ้าดูแล้ว สองสามทุ่มพยาบาลเรียกผมไปแจ้งอาการน้อง ว่าน้องรู้สึกตัวแล้ว ลืมตาแล้ว ตอนนั้นประมาณทุ่มสองทุ่ม

สบายใจว่าลูกลืมตา?

พ่อสมบูรณ์ : ครับ  หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ทุ่ม หมอใหญ่เรียกผมไปเหมือนเดิม แล้วบอกว่าน้องติดเชื้อในกระแสเลือด ถ้าหายก็เป็นเจ้าชายนิทรา ถ้าไม่หายก็คือให้น้องเขาไปดี เพราะกระจายไปในช่องท้องหมดแล้ว ติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย ช่วงสามสี่ทุ่ม ปั้มหัวใจไปแล้วทีนึงเพราะน้องเขาช็อกไปแล้วทีนึง หมอปั้มช่วย รอบสามผมก็ลงไปอีก ให้ช่วยน้องให้เต็มที่ รอบสามตีสอง หมอก็เรียกผมขึ้นไปว่าพ่อต้องทำใจนะ เพราะน้องเขาไปแล้ว ไม่รับรู้อะไรแล้ว หมอปั้มหัวใจ 30 นาที ถ้าชีพจรน้องไม่มาก็ปล่อยให้น้องไป ผมนั่งรออยู่แป๊บนึง หมอปั้มหัวใจ พอหมอออกมาก็ให้ผมเข้าไปดูหน้าน้องครั้งสุดท้าย แล้วก็บอกให้ผมทำใจ เขาจะถอดสายแล้ว ให้ผมเอาเสื้อผ้ามาให้น้องเปลี่ยนด้วย

เท่าที่ได้พูดคุยกับคุณหมอ ไส้ติ่งพอบวมมากจะแตก พอแตกปุ๊บ หนองที่อยู่ในไส้ติ่งจะกระจายออกมา แล้วเป็นหนองสกปรก พอออกมาก็กระจายแล้วติดใสกระแสเลือด ทำให้ความดันคนไข้ต่ำ เขาก็จะช็อก มีอาการหอบ เหมือนร่างกายไม่ไหว เอาไม่อยู่ ต้องให้ยา 7 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น เข้าใจได้ แต่ช่วงตอน 5 ทุ่มไปถึง 7 โมงเช้า ตรงนี้เกิดอะไร ทำไมไม่มีการผ่าตัดตรงนี้ น้าติดใจตรงไหน?

น้าสุ : ติดในตรงที่ทำไมหมอไม่รีบผ่าตัด แล้วทำไมไม่แจ้งญาติว่าระหว่างรอ สามารถย้ายรพ.ได้มั้ย

ป้าผึ้ง : ทำไมไม่แจ้งญาติ เพราะรพ.เอกชนก็อยู่ใกล้ ๆ ทำไมไม่แจ้งว่าติดขัดอะไรมั้ย บอกแค่ติดเคสพิเศษแล้วให้น้องรอถึงเช้า แล้วมาบอกว่าน้องไส้ติ่งแตก นี่คือสิ่งที่ติดใจค่ะ

หลังน้องเสียชีวิตมีการติดต่อไปรพ.มั้ย?

น้าสุ : มีค่ะ หนูติดต่อไปที่รพ.วันที่ทราบเลยว่าน้องเสียชีวิต ทางรพ.โอนสายไปตึกชั้น 7 ที่น้องรักษาอยู่ก่อนผ่าตัด หนูถามว่าอยากทราบสาเหตุการเสียชีวิต เขาบอกว่าไม่ทราบต้องติดต่อคุณหมอที่ผ่าตัดน้อง เขาบอกว่าจะติดต่อคุณหมอให้คุณหมอติดต่อกลับมา หลังจากนั้นช่วงเช้า พยาบาลตึกเดิมแจ้งว่าให้ญาติติดต่อสอบถามอาการน้องเอง สาเหตุที่เสียชีวิตเอง ที่ห้องไอซียู หนูก็เลยถามว่าไหนบอกว่าจะแจ้งคุณหมอ แล้วให้คุณหมอติดต่อกลับมา เขาแจ้งมาว่าคุณหมอคงไม่ได้ติดต่อกลับไป ซึ่งไม่บอกว่าเพราะอะไร หลังจากนั้นก็โทรไปที่ไอซียู ครั้งแรกโทรไปสายไม่ว่าง ครั้งหลังโทรติด ไอซียูแจ้งว่าเขาไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ว่าทำไมไม่ได้ผ่า ต้องติดต่อกับคุณหมอ

ไม่มีใครรู้เรื่องเลย จนสุดท้ายเห็นว่ามีคนโทรติดต่อมาหาคุณ?

น้าสุ : แพทย์อาวุโส โทรมาบอกว่าญาติอย่าเพิ่งใจร้อน ตอนนี้พ่อของคุณหมอ เคสที่ผ่าตัดน้องเขาเสียชีวิต บวกกับติดวันหยุดราชการ เราไม่สามารถเข้าไปค้นหาเอกสารได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาแจ้งว่าเขาก็ไม่ทราบเรื่อง ต้องรอคุณหมอ ก่อนคุยคุณหมอถามหนูว่าเรียนจบอะไรมา หนูบอกว่าเรียนจบม. 6 ค่ะ คุณหมอบอกว่าไม่ได้จบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาใช่มั้ย ที่ถามไม่ใช่อะไรหรอก เราจะได้คุยกันรู้เรื่องคุยกันเข้าใจ

ถามทำไม?

น้าสุ : เขาบอกจะได้คุยกันรู้เรื่องค่ะ โทรมาก่อนฌาปนกิจน้องค่ะ

สวดน้องกี่วัน?

น้าสุ : 4 วัน รวมฌาปนกิจก็ 5 วันค่ะ

5 วันนี้มีเจ้าหน้าที่รพ.มามั้ย?

น้าสุ : ไม่มีเลยค่ะ

ส่งพวงหรีดมามั้ย?

น้าสุ : ไม่มี ไม่มีแม้แต่คำว่าขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ไม่มีการติดต่อใด ๆ มาเลยค่ะ

เผาน้องวันไหน?

น้าสุ : วันที่ 4 ค่ะ ไม่ติดต่อมาเลยค่ะ

ผอ.ออกมาแถลงว่าห้องผ่าตัดมี 3 ห้อง  ห้องแรกรายแรกผ่าตัดไส้เลื่อนและมีลำไส้เน่า รายที่สองผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ผ่าตัดเสร็จ 02.00 น. ของวันที่ 30 พ.ค. , ห้องที่ 2 คนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่ มีแผลเปิด ต้องเร่งผ่าตัด ห้องที่ 3 ผ่าตัดเด็กในครรภ์มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว ยืนยันไม่มีเคสพิเศษแทรกคิวใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อความเป็นธรรม โฟนอินหา “นพ. ภูวดล กิตติวัฒนาสาร” ผู้อำนวยการ รพ.บุรีรัมย์ รพ.บุรีรัมย์มีห้องผ่าตัดอยู่ 3 ห้องจริง ๆ ใช่มั้ย?

นพ.ภูวดล : รพ.เรามีห้องผ่าตัดทั้งหมด 6 ห้องครับ แต่ผ่านอกเวลาราชการ ในช่วงผ่าตัดช่วงบ่ายเราจะมีห้องทั้งหมดที่เปิดไว้สำรอง 4 ห้อง ส่วนกลางคืนเปิดไว้สำรอง 2 ห้อง เพื่อผ่าตัดได้ทันที

กรณีน้องต้นน้ำที่มีการเข็นเข้าไป แล้วเข็นกลับออกมา มีเวรเปลบอกว่าหมอต้องผ่าตัดเคสพิเศษ 2 เคส ข้อเท็จจริงเป็นยังไง?

นพ.ภูวดล : เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะการเลือกเคสมาผ่าหรือไม่ผ่า เรายึดหลักวิชาการอยู่แล้ เคสไหนหนักมาก แล้วชนกัน เราจะผ่าเคสที่หนักกว่า เคสอายุ 85 ปี ลำไส้อุดตันลำไส้จะเน่า เขาก็ช็อกแล้วก็ต้องผ่า อีกเคสก็เหมือนกัน ทำให้น้องต้องรอ เราเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น

คุณพ่อยืนยันว่ามีการนัดคิวในการผ่าตอน 5 ทุ่ม พอเข็นเข้าไปแล้วเข็นออกมา?

นพ.ภูวดล : โดยทั่วไปห้องผ่าตัดเรามีหลากหลายสาขาในการผ่า มีผ่ากระดูก สูฯ สมอง ผ่าตัดศัลยกรรมทั่วไป มีทุกแผนก มีหมอมากมายในการเข้ามา มีวิสัญญีแพทย์ในการช่วยประเมิน ดังนั้นเวลาเราวางแผนผ่าตัดโดยหลักการ เราวางแผนว่าจะผ่าตอน 5 ทุ่มหรือ 5 ทุ่มครึ่ง แต่พอถึงเวลาเราอาจมีเคสที่ด่วนหรือหนักกว่า ที่เข้ามาแทรก ก็เป็นอีกประเด็นนึงที่ทำให้ถูกเลื่อนรอการผ่าตัดได้

ในกรณีนี้ 3 ห้องที่ผ่าตัด เขาผ่าถึง 7 โมงเช้าเลยเหรอ?

นพ.ภูวดล : ทั้งสามเคสคงไม่ได้ผ่าถึง 7 โมงเช้าหรอกครับ คงผ่าเสร็จประมาณตีสอง ตีสาม แต่ทีนี้เท่าที่สอบถามเจ้าของไข้ และทีมงาน คงประมาณมองว่าตอนนั้นที่เขาประเมินหนูน้อย มองว่าอาการยังพอไหว ตอนที่ประเมิน ณ ตอนนั้น ด้วยเคสที่รอผ่าตัดอาจจะรอนาน เขาเลยมองว่างั้นกลับไปรอที่จุดก่อนในส่วนนี้ เคสที่ผ่าก็เป็นเคสที่หนักอยู่แล้ว เนื่องจากเราเป็นรพ.ศูนย์ วันนึงเราผ่าตัดเฉลี่ย 40-50 ราย

แบบนี้มีการประเมินพลาด บอกว่าเด็กอาการยังพอได้ ทั้งที่เด็กนอนปวดดิ้นทุรนทุราย?

นพ.ภูวดล : ถ้าเกิดเด็กมีอาการช็อกหรืออะไรเขาก็ต้องผ่า ณ เวลาที่เขาประเมิน ยังประเมินแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่คิดว่ายอมรับได้ แล้วด้วยเคสตอนนั้นมีเคสที่หนักกว่า มันเลยถูกเลื่อน แต่เคสพิเศษ เวลาเราผ่าตัดเราไม่ได้เลือกใครเป็นเคสพิเศษหรือไม่พิเศษ เราเลือกอยู่ที่ว่าใครหนักหรือไม่หนัก

แต่สุดท้ายตอนเช้าเด็กไส้ติ่งแตก ติดเชื้อในกระแสเลือด ความดันตก หอบ มันก็บอกได้ว่าเกิดเหตุผิดพลาดจริง ๆ ในการประเมิน ทำให้เด็กไส้ติ่งแตก ติดเชื้อในกระแสเลือด?

นพ.ภูวดล : อันนี้อาจจะเกิดได้ เพราะช่วงดึกยามวิกาล ส่วนนึงทีมผ่าตัดอาจจะล้า เลยมองว่าเช้าอาจลุกขึ้นมาทำ

รพ.ใหญ่ไม่มีหมอเร่งด่วนเหรอ?

นพ.ภูวดล : เรามีหมอประจำอยู่แล้ว แต่ด้วยเคสปริมาณเยอะ ส่วนนึงก็ผ่ากันเกือบทั้งคืนอยู่แล้ว อาจมีเบรกช่วงสั้นๆ แล้วเช้ามาต่อในส่วนนี้ ในมุมของเด็กผมมองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเราประเมิน ณ จุดนั้นตอนแรกเด็กโอเค แต่พอประเมินช่วงหลังกลายเป็นว่าเด็กทรุด พอเด็กทรุดเราก็เตรียมการผ่าตัดใหม่อยู่แล้ว ส่วนนี้เราก็ยอมรับ เราก็เสียใจ ที่เด็กทรุดลงมา เราผ่าตัดแล้วไม่สามารถยื้อหรือรักษาเด็กให้ได้ดีได้

ดร.มนต์ชัย : แพทย์เจ้าของไข้ใช้วิจารญาณแล้วว่าต้องผ่าตัดในช่วง 5 ทุ่มครึ่ง ก็ต้องแสดงว่าเป็นเคสผ่าตัดเร่งด่วนสิครับ

นพ.ภูวดล : ไม่หรอกครับ โดยทั่วไปเราต้องดูห้องว่างห้องผ่าตัด สองดูคิวเคสผ่าตัด เคสไหนหนักก็เอามาก่อน แต่เขาคงประเมินว่าห้าทุ่มน่าจะพอดี เคสนี้น่าจะเข้าได้ แต่พอ 5 ทุ่มมีเคสหนักเข้ามาแทรกมาอีก เลยถึงถูกเลื่อนออกไปอีก

ทำไมพอเหตุเกิดขึ้นแล้วรพ.รู้ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง ๆ งานศพน้องหรีดสักพวง เจ้าหน้าที่ไม่ไปหาเขาเลย มองยังไง?

นพ.ภูวดล : ตรงนี้ก็ยอมรับว่าอาจได้รับในข้อมูลที่สื่อสารมาล่าช้า ก็ขออภัยอย่างยิ่ง เราอาจขาดการสื่อสารจากข้างล่างมาข้างบนไม่ได้มีมากมาย การจัดการส่วนนี้ไม่ดีพอ เรามารู้จริงๆ ช่วงเขาเผาแล้ว

ป้าผึ้ง : อยากถามว่าตั้งแต่วันน้องเสีย เวลาตั้งศพรวมประมาณ 5 วัน สื่อสารกันไม่ได้เลยเหรอคะ มีแต่ญาติติดต่อไปตลอด จากข้างล่างขึ้นไปข้างบนมันยากขนาดนั้นเลยเหรอคะ

น้าสุ : พยาบาลแจ้งแล้วว่าจะติดต่อคุณหมอเจ้าของเคส จนพยาบาลติดต่อมาว่าคุณหมอคงไม่ติดต่อกลับมา (ร้องไห้) ให้เราไปถามไอซียูเอง

ป้าผึ้ง : แล้วอาการขนาดไหนถึงจะเรียกว่าฉุกเฉิน ประเมินว่าต้องผ่า

นพ.ภูวดล : ตรงนี้เราก็ยอมรับในการสื่อสาร อาจต้องไปคุยกับทีมงานอีกทีในระบบว่าเวลามีเคสมีอะไรต้องรายงานตรงขึ้นมาให้รวดเร็วชัดเจนกว่านี้ ก็ทำให้เรารู้ช้า กรณีที่ญาติบอกว่าเวลาไปถามแล้วทำไมพยาบาลไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร บางทีโดยทั่วไปสุดท้ายเด็กน้อยเป็นอะไรถึงแก่ชีวิต บางทีอาจต้องรวบรวมข้อมูลแล้วให้หมอที่เป็นเจ้าของไข้สรุปอีกทีให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากอะไร บางครั้งพยาบาลอาจไม่กล้าบอกเลยเพราะกลัวว่าบอกไปแล้วอาจไม่ตรงกับที่หมอพูด เขาก็รอให้หมอเป็นคนพูดเอง พยาบาลรู้คร่าว ๆ ว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากอะไร แต่ติดเชื้อแล้วมีอะไรร่วมด้วยหรือเปล่า

พยาบาลไม่โทรมาอาจกลัวสื่อสารไม่เข้าใจ ทำให้มีประเด็นเกิดขึ้น แต่ในมุมกลับกันคนที่เข็นรถออกมากลับสื่อสารกับทางนี้ว่ามีเคสพิเศษ?

นพ.ภูวดล : ในห้องผ่าตัดเราไม่มีเคสพิเศษอยู่แล้ว เราผ่าตามความหนักจากคนไข้ เพราะมีการควบคุมหลายส่วนอยู่แล้ว มีทีมหมอผ่าตัด หมอดมยา ซึ่งทีมหมอผ่าตัดก็เข้าหลายสาขา ถ้าเอาเคสไม่ด่วนแล้วมา สาขาอื่นเขาก็โวยได้อยู่แล้ว

ประเด็นที่เกิดขึ้น เที่ยงคืนถึงเจ็ดโมงเช้า ถ้าทางรพ.พยายามบอกว่าคุณหมอหลังผ่าตัดอาจล้า รอประเมินอาการ ตัวน้องน่าจะไหวอยู่ เช้าแล้วค่อยว่ากัน พอพูดออกไปสังคมอาจกังวลใจได้เหมือนกัน เหมือนเป็นการประเมินพลาด ทำให้เด็กคนนึงที่หาข้าวหาน้ำให้ย่ากินต้องเสียชีวิตไป แต่ต้องมาเสียชีวิตจากการประเมินผิดพลาด เขาปวดทรมาน พ่อยืนอยู่ตลอด พยาบาลเห็นมั้ย?

พ่อสมบูรณ์ : พยาบาลก็เห็น

นพ.ภูวดล : เรายอมรับ แต่มีเคสผ่าอยู่น่าจะเสร็จตีสองตีสาม ก็ยอมรับผิดในการจัดการ เรื่องนี้เราคงต้องมาทบทวน พรุ่งนี้มีนัดจัดการระบบทีมผ่าตัด เพื่อเซ็ตระบบ ปัญหาที่อาจหลุด หรือมีอะไรเกิดขึ้น เพื่อให้ระบบมีคุณภาพที่ดีขึ้น

ดร.มนต์ชัย : แพทย์ที่เขานัดผ่าตัดตอน 5 ทุ่ม เขาติดผ่าตัด 5 ทุ่มจริงใช่มั้ย เขาเป็นคนเดียวกันใช่มั้ย

นพ.ภูวดล : เขาติดผ่าตัดอยู่แล้ว ในเคสที่ลำไส้เน่าอยู่แล้ว

ตอนนั้นสามารถแจ้งญาติได้มั้ยว่าผ่าตัดเต็ม เขาจะได้ไปหารพ.ใกล้ ๆ พออึมครึมให้รอดูจนเช้า แล้วไส้ติ่งแตกจนเสียชีวิต เป็นเรื่องการสื่อสารด้วยหรอืเปล่า?

นพ.ภูวดล : ก็คงมีส่วน มองว่าเรื่องสื่อสารนี่แหละ ถ้าญาติหรือใคร อยากไปรพ.อื่นเราไม่มีปัญหา เพราะเรามองว่าด้วยรพ.ใหญ่ก็ยอมรับว่าบางทีเคสอะไรต่าง ๆ เราเซ็ตเวลาไว้ แต่บางทีอาจเลื่อนได้เพราะเราติดเคสหรือติดอะไร อย่างมีเคสหนัก ถูกแทง แต่บางอย่างของเราอาจจัดการไม่ดี ตรงนี้ก็ต้องทบทวนและจัดการ

ผมมองว่าเคสไส้ติ่งอักเสบ เด็กปวดขนาดนี้เป็นเคสที่รอไม่ได้ ซึ่งแตกขึ้นมาไม่รู้จะมีใครจะรับผิดชอบ ถ้าแตกไปมีเรื่องหนองไปติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผมว่าการประเมินอาจมีข้อผิดพลาดมาก รบกวนฝากทางรพ.ด้วย?

นพ.ภูวดล : ยินดีครับ ก่อนอื่นในนามรพ.บุรีรัมย์ ขอแสดงความเสียใจกับคุณพ่อและครอบครัว เราก็ไม่ได้อยากให้เกิด เราก็ต้องทบทวนตัวเองว่ามีอะไรต้องปรับ

หลังจากที่ฟังท่านผอ.อธิบาย ทนายแก้วมองยังไง?

ดร.มนต์ชัย : ผมมองว่าแกเลี่ยงบาลีชัดๆ เลยครับ พฤติกรรมของแพทย์ที่มีการนัดหมายผ่าตัด ต้องมีการประสานงานไปยังหน่วยงานอื่นๆ แล้วถึงจะมีการนัด สองถึงแม้ว่าจะมีการเลื่อน แพทย์คนนั้นต้องไปดูแลคนไข้เพราะเขาเป็นคนประเมินอาการ ถ้าจะปล่อยแล้วบอกว่าเพลียผ่าตัดคนอื่นแล้วกลับบ้านไปนอน ผมว่ามันไม่ถูกต้อง กรณีตั้งแต่ 7 โมงเช้า เป็นจุดวิกฤตที่สุด ถ้ามีการดูแล ตรวจ ส่งอัลตร้าซาวด์หรือพิจารณาก่อน ในช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งจะดีที่สุด แต่ผอ.พูดเหมือนห้องผ่าตัดเต็ม ไม่มีทางเลือก ชีวิตคนไม่ใช่ผักปลา มันเลื่อนนาทีเดียว คนไข้อาจเสียชีวิตได้ ผมฟันธงว่าเรื่องนี้แพทย์วินิจฉัยพลาด  ผมถือว่าหมอน่าจะประมาท

ในช่วงเที่ยงคืนถึง 7 โมงเช้า มีหมอมาดูมั้ย?

พ่อสมบูรณ์ : ไม่มีเลยครับ

แล้วหมอคนไหนมาประเมิน?

พ่อสมบูรณ์ : มาประเมินช่วงสุดท้ายแล้ว

พ่อบอกว่าตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเจ็ดโมงเช้าไม่มีหมอคนไหนมาดูเลย มีแต่พยาบาล แต่ผอ.บอกว่าหมอประเมินแล้วรอได้ จะตอบคนไข้ยังไง พ่ออยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ไปไหนเลย?

พ่อสมบูรณ์ : มีเข้าห้องน้ำ แต่ไปแป๊บเดียว ไม่นาน

ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดแบบนี้หรอก แต่อันนี้เป็นความผิดพลาดจริง ๆ จะแก้ปัญหานี้ยังไง ผมรู้มาว่าในประเทศไทย ต่างจังหวัดมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ มีคนมาร้องโหนกระแสเยอะมาก ผมทำให้ได้ไม่หมดจริง ๆ เยอะจริง ๆ ลักษณะคล้าย ๆ แบบนี้?

ดร.มนต์ชัย : ผมแปลกใจ กรณีหมอเขาเลื่อน ถ้าเขาบอกเรา เราจะได้ส่งที่อื่น กรณีนี้คนไข้ก็ดันไม่รู้ด้วยว่ามีการเลื่อนการผ่าตัด ถ้าผ่าที่อื่นก็ไม่น่าจะยาก เพราะมันค่อนข้างผ่าได้ ถ้ามีการสื่อสารที่ดีเราก็ทันเวลา

ที่สำคัญเขาเป็นเด็กดีนะ น้องต้นน้ำ เป็นเด็กดีมาก?

น้าสุ : (ร้องไห้)

ย่าบอกว่าตื่นนอนตอนเช้าก่อนไปเรียนหนังสือ หาข้าวหาน้ำให้ย่ากิน ย่าบอกว่าวันนี้ไม่มีแล้วที่หลานคนนี้จะเอาข้าวเอาน้ำมาให้กิน?

พ่อสมบูรณ์ : (น้ำตาไหล)

ฟังแล้วทรมานใจ ปกติยิ่งรู้ว่าไส้ติ่งอักเสบยังไงก็ต้องผ่า เพราะนั่นบอกว่าไส้ติ่งกำลังจะแตก เอาออกได้เร็วที่สุดเท่าไหร่อัตรารอดชีวิตก็มีมากเท่านั้น กรณีน้องถึงได้บอกว่าช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงเจ็ดโมงเช้า ทำไมไม่มีการประเมินน้อง เขาประเมินตรงไหน?

ป้าผึ้ง : พ่อเขามีแจ้งพยาบาลว่าลูกไข้สูง พยาบาลเอายามาฉีด

พ่อสมบูรณ์ :   พยาบาลบอก แต่ไม่มีหมอ

ป้าผึ้ง : พยาบาลไม่สื่อสารกับหมอเหรอคะ ตอนแกไข้ขึ้นสูง ปวดท้องรุนแรง มีอาการเพ้อ กำมือพ่อ ตอนพ่อแจ้งพยาบาล พยาบาลจะไม่มีการแจ้งทางแพทย์เลยเหรอคะ ถึงปล่อยให้ไส้ติ่งแตก

พ่อสมบูรณ์ : น้องอ้วกเป็นสีเขียว ตอนเช้าก็อ้วกเต็มถุง

ดร.มนต์ชัย : กรณีของแพทย์ ตามกฎหมายแพทยสภา ต้องมีการดูแลรักษาให้ดีที่สุด การกระทำนี้ถ้าเกิดแพทย์ประมาท เราสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรพ.ได้ แต่ถ้าเกิดเรามองว่าหมอประมาทส่วนตัว ก็สามารถฟ้องคดีอาญากับหมอได้เหมือนกัน ส่วนการฟ้องร้องกับทางรพ. สามารถเรียกค่าเสียหาย ค่าทดแทนจากทางรพ.ได้ กรณีนี้เหมือนหมอพอไม่พอ สามารถเอาหมออะไรมาผ่าก็ได้ เอาความล้ามาใช้กับชีวิตคนผมว่ามันไม่น่ารัก นี่รพ.ใหญ่ ไม่ได้อยู่หลังเขา โรคไส้ติ่งไม่ใช่โรคมะเร็ง ไส้ติ่งปวดปุ๊บยังไงก็ต้องผ่า

ย่าเป็นไงบ้าง?

พ่อสมบูรณ์ :   ร้องไห้ทุกวัน (ร้องไห้) แกทำใจไม่ได้ ไม่มีใครหากับข้าวให้แกกิน ผมก็ต้องไปทำงานด้วย

ดร.มนต์ชัย : แปลก 4 วันที่ตั้งศพ ตัวแทนสักคน เจ้าหน้าที่ก็ไม่มี สื่อสารกันด้วยการใช้ม้าเร็วหรือนกพิราบ ถามจริงๆ เรื่องแบบนี้คนตายทั้งคน ลองเป็นลูกหมอดูสิ ผมพูดตรง ๆ ว่าได้ผ่าแล้ว เด็กเขาดิ้นทุรนทุราย คุณมองไม่เห็นเลยเหรอ ให้เขารอได้ยังไง เคสนี้เดี๋ยวผมทำให้เต็มที่ ก็แล้วแต่คุณพ่อจะเจรจาค่าทดแทนเรื่องตัวเลข แต่ถ้าเขาไม่รับผิดชอบเลย ผมคิดว่าต้องฟ้อง

พ่อสมบูรณ์ : ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เพราะเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินไป (ร้องไห้) ผมก็มีลูกคนเดียว

น้าสุ : น้องรอจนน้องเสียชีวิต ถ้าหนูไม่ติดต่อไปที่รพ. น้องจะได้รับความยุติธรรมหรือเปล่าคะ (ร้องไห้) เรื่องนี้จะมีคนรู้หรือเปล่า อยากให้รพ.แก้ไขจะได้ไม่เกิดกับคนอื่นอีก ความสูญเสียตรงนี้ มันใหญ่เกินจะมีอะไรมาทดแทน (ร้องไห้)

ป้าผึ้ง : การสื่อสารอะไรขอให้เร็วกว่านี้หน่อย ครอบครัวบางครอบครัวเขาตาสีตาสี ไม่สามารถต่อกรอะไรกับรพ.ได้ อยากฝากค่ะ ไม่อยากให้เกิดเคสแบบนี้ขึ้นมาอีก

About Author