PDPA เผยแพร่ 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ “ห้ามถ่ายรูปติดคนอื่น”

ทางพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ย่อมาจากคำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) แต่พึ่งได้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

ทางเพจ PDPC Thailand ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้เผยแพร่ 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยระบุว่า

4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA 

1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA

ตอบ กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA 

ตอบ สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 

3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA 

ตอบ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน 

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ 

ตอบ ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

(1) เป็นการทำตามสัญญา 

(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ 

(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล 

(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ 

(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง 

ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป 

PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น 

รู้ไว้ไม่เสียหาย 8 บทลงโทษตามกฎหมาย PDPA

(1) การกระทำใด ๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท

(2) การเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

(3) การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมตามมาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

(4) การกระทำใด ๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้ผ่านการขอความยินยอมตามรูปแบบที่ถูกต้อง มาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

(5) การกระทำใด ๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ แจ้งรายละเอียด และแจ้งสิทธิของเจ้าของข้อมูล มาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

(6) การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เก็บข้อมูลได้ มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท

(7) ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารหรือให้ข้อมูล หรือเรียกบุคคลมาชี้แจงข้อมูลได้ หากมีความจำเป็นก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าค้น และยึดเอกสารเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ หากผู้ประกอบกิจการได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแล้วไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มาชี้แจงข้อเท็จจิรง มาตรา 89 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

(8) มาตรา 77 กำหนดว่า ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าของข้อมูลเอง หรือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

และนี่คือสาระน่ารู้บางส่วนเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ดังนั้นประชาชนควรศึกษาและทำความเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองถูกละเมิดสิทธิ หรือพลาดพลั้งไปละเมิดสิทธิบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัวในอนาคต

Cr_Facebook:  PDPC Thailand 

About Author