“มหาลัยสวนสุนันทา” ลงพื้นที่ใช้ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สวนสุนันทาลงพื้นที่ใช้ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปูพื้นด้านการตลาดดิจิทัลช่วยผู้ประกอบการชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย อาจารย์จิรวัฒน์ สุดสวาท หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจ บริการสุขภาพ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชนท่าทราย จ.นครนายก ในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และจัดทำคู่มือการใช้ facebook business suite โดยใช้โมเดลจากงานวิจัยของปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มาเป็นต้นแบบในการดำเนินงานภายใต้โครงการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากมะดัน) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

อาจารย์จิรวัฒน์ กล่าวว่า “การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการช่วยในเรื่องของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้ประกอบการชุมชนที่มีศักยภาพความพร้อมให้มีพื้นฐานด้านการตลาดดิจิทัล โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของตลาดดิจิทัลให้ผู้ประกอบการมีความรู้และความเข้าใจก่อนที่จะพัฒนาการขายสู่การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ฝึกให้ชุมชนเกิดแนวความคิดของหลักการตลาด คิดกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลทางการตลาด และใช้ส่วนผสมทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ชุมชนได้ลงมือปฏิบัติจริง ในการฝึกใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ การใช้ Facebook Marketplace / Facebook Business Suite / Line และ Instagram”
“โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย รวมถึงการสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องของการติดต่อประสานงาน จริยธรรม และพรบ.คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจในการใช้งานของแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์ภาคชุมชน โดยจัดทำเป็นคู่มือการใช้งานให้มีความเข้าใจด้วยการอธิบายจากภาพ เป็นขั้นตอน เพื่อชุมชนได้มีความรู้อย่างแท้จริง เนื่องจากหากอาจารย์ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้วก็จะส่งผลให้ชุมชนได้เดินเองต่อไปได้” อ.จิรวัฒน์ กล่าว
.จิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ยังได้สร้างความรู้ในการกระจายสินค้าในพื้นที่ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือผู้บริโภคโดยเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง หรือการจัดโปรโมชั่นการขนส่งผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ การจัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนลไน์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า (ไลฟ์สด) ยังเป็นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความชื่นชอบ และติดตามเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีความเข้าใจในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การแต่งกาย การใช้อุปกรณ์ และการจัดเตรียมสถานที่ การติดตั้งอุปกรณ์ภาพและเสียง มุมกล้องและสถานที่ในการไลฟ์สด ข้อความและเรื่องเล่าของผลิตภัณฑ์ การติดต่อและระยะเวลาในการไลฟ์สด และวิธีการปิดการขายและโปรโมชั่น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการชุมชนจำเป็นต้องมีทักษะในการดำเนินกิจกรรม เพราะหากไม่มีขั้นตอนและกระบวนการก็จะส่งผลให้การไลฟ์สดมีความน่าเบื่อ จะส่งบอกต่อลูกค้ารายอื่น ๆ หรืออาจจะเสียลูกค้าไปเลยก็เป็นได้”


“เรื่องของช่องทางการชำระเงิน หลายครั้งเกิดปัญหาในรูปแบบการชำระเงินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีทั้งเป็นมิจฉาชีพ ก็สามารถทำให้เกิดความระแวงระหว่างลูกค้าและพ่อค้า สิ่งสำคัญคือต้องมีการติดต่อผ่านช่องทางความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันปัญหาในด้านต่าง ๆ เพราะการชำระเงินเป็นสิ่งสำคัญในการค้าขาย หากผู้ประกอบการมีช่องทางชำระเงินที่มากก็จะส่งผลต่อความสะดวกสบายแก่ลูกค้า แต่ก็ต้องมีความปลอดภัยอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งหมดจึงเป็นที่มาในการส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนหลักในสถานการณ์โรคระบาดเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ชุมชนได้มีรายได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนได้ต่อไป” อ.จิรวัฒน์ กล่าว

อาจารย์จิรวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “ที่สำคัญ ยังได้มีการนำโมเดลงานวิจัย “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อการผ่อนคลายความเครียดของนักท่องเที่ยวในพื้นที่กระเพาะหมู อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ” ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มาต่อยอดให้กับชุมชนท่าทราย จังหวัดนครนายก โดยใช้การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามามีส่วนช่วยในการจัดจำหน่าย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีผู้ใช้งานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และจะส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในการใช้งานให้กับชุมชน ในการนำองค์ความรู้ และเทคนิคทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการจัดจำหน่ายมาต่อยอดให้กับชุมชนได้เป็นแบบอย่างและยังสามารถต่อยอดให้กับชุมชนอื่นได้อีกด้วย”

“ชาวบ้านหรือชุมชนได้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือใช้จากมะดัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จากการร่วมกันของสองมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ และพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายรวมถึงการส่งเสริมการใช้ Facebook Business Suite เป็นแพลตฟอร์มใหม่จาก Facebook ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถจัดการกับหน้าเพจของตัวเอง ทั้ง Facebook และ Instagram ในที่ที่เดียวได้ ซึ่งสามารถใช้งานได้บน แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สร้างความสะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม ประกอบกับแพลตฟอร์มนี้ ได้รวบรวมเอาฟีเจอร์เด่น ๆ ของ Facebook ที่เป็นที่นิยมและใช้งานได้ง่ายขึ้น จากผู้ใช้งานอย่าง Facebook Pages Managers, Facebook Analytics และ Facebook Ads Manager ไว้ในที่เดียวกันอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการชุมชนเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายที่ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอีกด้วย” อาจารย์จิรวัฒน์ กล่าว

“สำหรับการติดตามผลการดำเนินงานนั้น คณะทำงานได้มีการดูแลและติดตามผลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Line) เนื่องจากชุมชนมีรายได้จากการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้เกิดความยั่งยืนหลังจากทีมอาจารย์ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว ยังสามารถขายสินค้าได้ ซึ่งจากการส่งมอบคู่มือทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นคู่มือที่เกิดจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำไปต่อยอดได้โดยมีกระบวนการและภาพประกอบ จึงทำให้ชุมชนมีความเข้าใจได้โดยชัดเจน” อาจารย์จิรวัฒน์ กล่าวในที่สุด

About Author