แม่ร่ำไห้ ! ขอสังคมให้อภัย “เหมย” ฆ่ายายยัดถัง

แม่ร่ำไห้ ! ขอสังคมให้อภัย “เหมย” ฆ่ายายยัดถัง ชี้ทำผิดครั้งแรก เผยคำพูดแรกหลังฆ่า นักจิตวิทยาเผยเด็กขาดความอบอุ่น  

กรณีข่าวสลด “นางสมศรี ม่านกระโทก” หรือ “ยายหวาน” ถูก “เหมย” หลานสาว ร่วมกันกับแฟนหนุ่มก่อเหตุฆ่าก่อนนำร่างยัดใส่ถังแล้วนำไปทิ้งที่ จ.สุพรรณบุรี โดยเหมยให้การรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือก่อเหตุบีบคอก่อน ท่ามกลางสังคมที่รุมสาปเจ้าตัวจำนวนมาก

รายการ เป็นเรื่องใหญ่ ออนแอร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.05 น. ทางช่อง JKN 18 ดำเนินรายการโดย “เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ” วันที่ 22 ก.พ.2565 ได้สัมภาษณ์ “คุณแม่เจริญศรี ไววัฒถา คุณแม่ของน้องเหมย และ “ร.ต.อ.หญิง ดร.วิสมล ศรีสุทธินันทน์” หรือรอง สว.ฝ่ายกิจการการฝึกอบรม วตร. และนักจิตวิทยาการปรึกษา  

คูณแม่กับน้องเหมยอยู่ด้วยกันมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ค่ะ แม่อยู่เสาไห้ น้องอยู่แก่งคอย

ทำไมถึงไม่อยู่ด้วยกัน?

คุณแม่เจริญศรี : แม่มีลูกเยอะ คุณยายหวานเป็นคนดูแลน้อง

ยายหวานดูแลน้องตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

คุณแม่เจริญศรี : ขวบนึงค่ะ จนถึงน้องอายุ 18

คุณยายทำอาชีพอะไร?

คุณแม่เจริญศรี : แม่ไม่ได้ทำงานค่ะ แม่เป็นคนประเภทเก็บของขายบ้างอะไรบ้าง ขายลอตเตอรี่ จิปาถะค่ะ รายได้หลักก็คือของพ่อ (สามีของยายหวาน)

ย้ายไปที่อื่นมีครอบครัวใหม่หรือว่ายังไง?

คุณแม่เจริญศรี : ไปทำงานค่ะ ยังไม่มีครอบครัวใหม่

แล้วตอนคุณยายเลี้ยงน้องเหมยคุณแม่ได้กลับมาเยี่ยมหรือมาดูแลน้องบ้างมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : กลับไปเยี่ยมแบบคอยดูนาน ๆ ทีไปดูอะไรอย่างนี้ บางทีก็โทรหากันโทรหาแม่อะไรอย่างนี้ติดต่อกันตลอด

ได้คุยกับลูกบ้างมั้ยครับ?

คุณแม่เจริญศรี : คุยค่ะ

โดยปกติน้องสนิทกับแม่หรือคุณยายมากกว่ากัน?

คุณแม่เจริญศรี : สนิทกับคุณยายค่ะเพราะแม่ไม่ได้เลี้ยงเขาเลย

เท่าที่คุณแม่ได้คุยได้เจอน้องเป็นคนอารมณ์ร้อนมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ค่ะ น้องเป็นคนนิ่ง ๆ นะคะ เรียบร้อย ใครถามก็ยิ้ม เจอผู้ใหญ่ก็ไหว้ เป็นเด็กที่มีสัมมาคารวะอยู่ค่ะ

ตลอดเวลาที่คุณแม่ห่างกับน้องเคยทะเลาะกันบ้างมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ค่ะ เพราะแม่ไม่ได้เลี้ยงเขา เขาก็จะไม่ทะเลาะอะไรกับแม่

แล้วเขาทะเลาะกับคุณยายมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่นะคะ เวลายายบ่นใช่มั้ยก็บ่น ๆ ไป เหมยก็ถามยายว่ายายเหนื่อยยัง เหนื่อยแล้วก็หยุด เอายาดมยาหม่องให้ยายดม เหมยก็นั่งรับฟังไม่เถียง ถ้าเป็นในความรู้สึกแม่เหมือนชินค่ะเหมือนกิจวัตร ตัวแม่เองก็โดนยายหวานบ่นเหมือนกัน

เคยมีเรื่องลักเล็กขโมยน้อยใช้เงินเกินตัวมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่มีค่ะ เพราะเหมยเขาไม่ได้ขาดอะไร นิสัยเหมยเป็นคนที่ขี้เหนียวเหมือนยายนะ เก็บเงินมีเงินฝาก เงินในบัญชีเขามีค่ะ

ในวันที่เกิดเรื่องคุณแม่อยู่ที่ไหน?

คุณแม่เจริญศรี : อยู่เสาไห้ค่ะ ทำงานอยู่ที่นั่น เป็นสาวโรงงานค่ะ

คุณแม่รู้ข่าวได้ยังไงว่าคุณยายหายไป?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่รู้หรอกค่ะ พอดีพ่อแท้ ๆ เขาโทรมาบอกให้เช็กดูว่ามันจริงมั้ย

ปกติโทรคุยกับน้องกับยายบ่อยแค่ไหน?

คุณแม่เจริญศรี : ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 6 โทรไปหาแม่ คืนนั้นไม่รู้เป็นอะไรจะไปหาแม่ไหว้แม่กราบแม่ เพราะปีใหม่ไม่ได้ไป แม่บอกไม่ต้องเข้ามาเลยไม่รู้ไปไหนบ้างเอาโควิดมาติดหรือเปล่า คือแม่กลัวโรคนั่นแหละคือสายสุดท้าย

หลังจากวันนั้นได้คุยกับเหมยมั้ยก่อนเกิดเหตุ?

คุณแม่เจริญศรี : ปกติเหมยก็ไม่ค่อยได้คุยกับแม่อยู่แล้วเพราะว่าไม่ได้เลี้ยงเขามาไม่ค่อยสนิทเท่าไหร่ แต่เขาก็รู้ว่าเราเป็นแม่ เราก็รู้ว่าเขาคือลูก

ตอนคุณพ่อโทรมาบอกให้เช็กข่าวคุณแม่เช็กยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : ก็ให้ลูกสาวเสิร์จในกูเกิ้ลเสิร์จในยูทูปลูกก็เช็กกันใหญ่

เห็นข่าวครั้งแรกรู้สึกยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : ล้มทั้งยืน คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น หนูคิดอะไรอยู่ลูก คำถามที่จะถามลูก

แล้วรู้มั้ยในข่าวมีผู้ชายเพิ่มมาอีกคนที่เป็นแฟนน้องเหมย?

คุณแม่เจริญศรี : ก็พอรู้ค่ะ

คุณแม่เคยเจอคนนี้มั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่เคยค่ะ ไม่ทราบเลยว่าเขามีแฟนเพราะว่าไม่ได้อยู่กับเขา

แล้วตอนโทรคุยกับคุณยายไม่ได้บอกเหรอ?

คุณแม่เจริญศรี : แม่ก็ไม่รู้ค่ะ เพราะว่าแม่อ่านหนังสือไม่ออก เล่นโซเชียลไม่ได้

แล้วคุณแม่เองอยากให้ลูกมีแฟนมั้ยครับ?

คุณแม่เจริญศรี : ถามว่าอยากให้ลูกมีแฟนมั้ย ก็อีกนิดเดียวจะจบแล้ว ถ้าจบแล้วก็มีได้

คิดว่าการที่แม่กับยายไม่ให้น้องมีเรื่องรัก ๆใคร่ ๆ จนกว่าจะเรียนจบเป็นเหตุกดดันให้เกิดเรื่องแบบนี้มั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ได้กดดันนะเพราะแม่แล้วแต่การตัดสินใจของลูก แต่ยายเป็นคนหัวโบราณเขาอาจตั้งกรอบของเขาไว้ แม่ก็โทรมาบอกเรื่อยแหละเราก็บอกว่าแม่ตัดสินใจเองเลย

สมมติว่าวันนั้นแม่รู้ว่าน้องมีแฟนแม่จะบังคับให้เขาเลิกมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : เอาจริง ๆ ประสบการณ์ลูกก็เคยมีแฟนมาแล้ว ก็เคยห้าม แล้วไม่อยู่หนีออกนอกบ้านแม่ผ่านจุดนี้มาแล้ว แม่ก็เลยว่าถ้าคนต่อไปแม่ก็ไม่ห้าม ปล่อยให้เห็นในสายตาเราดีกว่า

ทำไมตอนนั้นเราถึงห้าม?

คุณแม่เจริญศรี : ก็อยากให้ลูกเรียนให้สูง อยากให้เรียนให้จบก่อน มีงานมีการทำงานเดี๋ยวก็เจอคนที่ดีเอง เราห้ามก็เหมือนเราตีกรอบไว้ หนีออกจากบ้าน

ตอนนั้นไปตามกลับมายังไง?

คุณแม่เจริญศรี : ก็ตามค่ะ หลายเดือนอยู่ ไปตามบ้านเพื่อนอย่างนี้ หลบแม่

แล้วเขาเอาเงินที่ไหนใช้?

คุณแม่เจริญศรี : ก็เงินเพื่อนเงินฝูงเงินแฟนที่เขาคบอยู่นั่นแหละค่ะ

เรียกได้ว่าเขาก็เป็นคนที่ดื้อเหมือนกันนะ?

คุณแม่เจริญศรี : ก็ใช้ได้เลยค่ะ

สุดท้ายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะเรื่องเงินใช่มั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ถามว่าเรื่องเงินมั้ย ไม่น่าใช่นะคะ เพราเหมยไม่ได้เป็นคนขาดเงิน มีเงินเก็บตาเขาก็มีเงินให้ ยายหวานก็มีเงิน ทุกอย่างเหมยไม่เคยขาดค่ะ

เท่าที่แม่พูดว่าน้องไม่ได้มีอาการรุนแรงแต่จะมีหนีเวลาโดนห้ามเรื่องความรักแบบเด็กทั่วไป เหตุการณ์แบบนี้ทำไมมันถึงเลยเถิดไปได้ครับ?

ดร.วิสมล : การสื่อสารในครอบครัว ด้วยความที่ยายอายุห่างกับหลาน แล้วยายบ่นเขาได้แต่ฟังแล้วไม่ได้มีช่องว่างให้เขาพูดหรืออธิบายในเรื่องบางเรื่องให้คุณยายฟังเลย อีกอย่างคุณยายรับน้องไปเลี้ยงตั้งแต่เล็ก คุณแม่จะไม่รู้นิสัยลูกเลยว่าเป็นแบบไหน แล้วยิ่งอายุห่างคนละ gen กัน พอคุณยายพูดเด็กก็เลยเบื่อ มันก็จะมีพฤติกรรมที่ดื้อ ๆ มันก็จะมี feedback บางอย่างที่เขาทำให้รู้ว่าเขาไปทางอื่นได้ แล้วยิ่งเด็กรุ่นนี้ติดเพื่อนค่ะ

แสดงว่ามันไม่ได้บอกเลยว่าการที่เขาไม่ก้าวร้าวทำให้เขาไม่มีอารมณ์รุนแรง?

ดร.วิสมล : ใช่ค่ะ ยิ่งยุคโควิดเด็กอาจดูทีวีเสพสิ่งต่าง ๆ จากโลกโซเชียลมันก็เป็นการซึมซับได้

ข่าวที่ออกว่าน้องต้องการเงินเอาไปใช้จ่ายคุณแม่เชื่อแค่ไหน?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่เชื่อเลยค่ะ เพราะเหมยเขามีเงินฝากเงินเก็บนะคะ แล้วเงินเที่ยวห้างอะไรยายเขาออกให้หมด บัญชีเหมยก็คือบัญชีต่างหาก

คุณแม่รู้มั้ยว่ามีเงินในบัญชีเท่าไหร่?

คุณแม่เจริญศรี : ก็พอทราบครั้งล่าสุดแม่บอกว่าเหมยฝากได้เป็นหมื่นสองหมื่นแล้วนะ

แต่เงินที่หายไปจากคุณยายเป็นแสนเลยนะ?

คุณแม่เจริญศรี : ตรงนี้แม่ไม่แน่ใจว่าเป็นเงินตรงไหนระหว่างที่เป็นเงินถูกหวยหรือเงินที่ไปกู้มา

ตามข่าวคือกู้มาเป็นค่าเล่าเรียนให้เหมย?

คุณแม่เจริญศรี : ค่ะ เป็นค่าเทอมที่จะจบ ม .6 ส่วนหนึ่งก็เอามาซ่อมบำรุงบ้าน

เงินก้อนนี้มันหายไปแม่ไม่คิดว่าน้องจะเอาไปเหรอ มันหายไปเลยนะ?

คุณแม่เจริญศรี : ใช่มันหายไป แม่ก็ไม่แน่ใจว่าตรงไหน

คุณยายต้องไปกู้เงินมา เขาเคยมาปรึกษาแม่มั้ยว่าน้องมีปัญหาเรื่องค่าเทอม เรื่องการเงิน?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ค่ะเวลาค่าเทอมมาแต่ละครั้งแม่จะบอกแค่ว่า เฮ้ยค่าเทอมลูกมึงมาอีกแล้วกูหน้ามืดอีกแล้วเนี่ย ยายหวานไม่เคยให้แม่ต้องมายุ่งเขาดิ้นของเขาเอง เขาจัดการของเขาเอง

พอสุดท้ายเกิดเหตุแม่รู้เรื่องแม่ได้โทรหาลูกมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : โทรไม่ติด โทรหายายหวานก็ไม่ติด ติดต่อไม่ได้เลย

ติดต่อน้องได้ตอนไหน?

คุณแม่เจริญศรี : โดนจับแล้วค่ะ ที่สถานพินิจเจอหน้าน้องครั้งแรก

ได้คุยอะไรกับลูกคำแรก?

คุณแม่เจริญศรี : มันเกิดอะไรขึ้นลูก เขาก็เงียบพักนึง เขาก็ขอโทษ ไม่รู้จะถามคำไหนเหมือนกัน เราก็ไม่อยากถามอะไรเยอะไปกว่านี้ เขาโดนถามมาเยอะแล้ว

แล้วแม่รู้มั้ยว่าตอนเกิดเหตุมันเกิดอะไรขึ้น?

คุณแม่เจริญศรี : แม่ไม่ทราบแลยค่ะ ยายหวานไม่ได้บอกปกติถ้าเขามีปัญหากับเหมยเขาจะโทรบอกไม่รู้จริง ๆ

ตำรวจบอกมั้ยว่ามันเกิดอะไรขึ้น?

คุณแม่เจริญศรี : ยังค่ะ ตำรวจยังไม่ได้บอกต้องรอสอบอีกที

แล้วตอนนี้เท่าที่แม่รู้แม่ว่ามันเกิดยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : แม่ก็บอกไม่ถูก ก็อยู่กับยายหวาน 2 คนนะที่ห้องเช่าที่โคราช

ตอนที่เจอที่สถานพินิจน้องเป็นยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : เหมือนน้องช็อกค่ะ น้องนิ่งๆ เจอหน้าแม่น้องยังตกใจอยู่เลย เหมือนน้องทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน

ในวันที่เกิดเหตุแม่คิดว่าใครเป็นคนฆ่ายาย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่คิดไม่ฝัน เราก็ไม่อยากจะโทษใครอีกแล้ว

คิดว่าไม่ใช่ลูกเรา?

คุณแม่เจริญศรี : ก็ในหัวอกคนเป็นแม่ยังไงก็คิดว่าไม่ใช่ลูกที่จะทำแบบนั้นได้ คนเป็นแม่ทุกคนต้องคิดแบบนี้

แล้ววันนี้แม่คิดยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : ยอมรับทุกอย่าง จากสิ่งที่เห็น จากปากลูก ยอมรับแล้วจะไม่โทษใครแล้ว

วันนั้นได้เจอแฟนน้องมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ได้เจอค่ะ ตำรวจเขาทำของเขาอยู่เขาไม่ให้เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนั้น ก็ไม่ได้เจอหน้าไม่ได้ปะทะอะไรกัน

ได้เจอครอบครัวผู้ชายมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ได้เจอครั้งนึงค่ะ แม่ผู้ชาย ตอนแรกด้วยอารมณ์โกรธก็ยอมรับว่าโทษเขาต่างคนต่างโทษกันว่าเป็นลูกเธอไม่ใช่ลูกเรา

วันนี้น้องรับสารภาพทุกอย่างแล้วยัง?

คุณแม่เจริญศรี : รับแล้วค่ะ

น้องรับสารภาพว่าไงคุณแม่พอจะรู้มั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : น้องก็รับว่าน้องเป็นคนบีบคอยายค่ะ แต่คนที่ทำให้ยายตายไม่ใช่เขา ยายยังไม่เสียอีกคนมีส่วนร่วม

การทำแบบนี้ด้วยความเป็นผู้เยาว์โทษระดับไหนครับ?

ดร.วิสมล : ในทางกฎหมายจะแบ่งเป็น เด็ก เยาวชน แล้วก็ผู้ใหญ่ ส่วนน้องเหมยเขายังเป็นเยาวชนอยู่ดังนั้นเวลาศาลตัดสินเขาจะดูความเป็นเด็กก่อน เพราะกฎหมายอาญาของไทยเราล้อมาจากเยอรมัน แต่ศาลก็ต้องพิจารณาอีกนะคะในการกระทำครั้งนี้ เพราะครั้งนี้เขาเรียกว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์เหมือนกันเพราะว่าน้องเหมือนวางแผนไว้แล้ว มีถังมีอะไรไว้แล้ว ปู่ย่าตายายทางศาลเขาจะนับเป็นบุพการี และด้วยอายุของน้องจะคาบเกี่ยวไปเป็นผู้ใหญ่แล้วดังนั้นศาลก็ต้องพิจารณาเพราะมันเป็นคดีที่ซับซ้อนมันรุนแรงเกินไปหรือเปล่า

ถ้าเป็นของผู้ใหญ่โทษจะเป็นยังไง?

ดร.วิสมล : ก็ประหารชีวิตค่ะ แต่เด็กเนี่ยเขาให้ความเป็นเด็กก่อนไงคะ เพราะทั่วโลกเขาจะแบ่งว่าเด็กอายุเท่านี้มีความคิดและการตัดสินใจไม่ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ยังให้โอกาสปรับตัวได้

แบบนี้ต้องเข้าเรือนจำ หรือคุกหรือสถานพินิจยังไง?

ดร.วิสมล : ต้องไปสถานพินิจก่อนค่ะ เพราะได้แบ่งไว้แล้วด้วยโทษของน้องเขาว่าอยู่ชั้นไหนอยู่ตรงไหน ด้วยอายุแล้วเราไปสถานพินิจก่อน แต่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่นะคะ ด้วยคดีนี้สามารถประกันตัวได้หมดหมายความว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะสามารถออกมาสู้คดีก่อนได้ แต่ของน้องไม่มั่นใจนะคะว่าศาลจะตัดสินแบบไหน เพราะเป็นคดีที่อุกฉกรรจ์ได้และอายุน้องจะ 18 แล้ว ถือเป็นคดีที่รุนแรง

คุณแม่ทราบมั้ยว่าตำรวจตั้งข้อหาอะไรบ้าง?

คุณแม่เจริญศรี : เท่าที่ทราบเบื้องต้นคือร่วมกันพยายามฆ่าค่ะ

คิดว่าลูกเราจะโดนข้อหาอะไรบ้าง?

คุณแม่เจริญศรี : แม่ก็ไม่ค่อยรู้กฎหมาย ถ้าความคิดแม่อาจโดนประหารชีวิตหรือเปล่าอะไรประมาณนี้

แล้วถ้าเกิดโดนจริงๆ แม่รับไหวมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ไหว เมื่อวานก็เพิ่งเผาแม่ไป เสียอีกไม่ไหว

แล้ววันก่อนหน้างานแม่ได้คุยอะไรกับครอบครัวฝ่ายชายบ้างมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่ได้เจอ

ตอนงานเผาคุณแม่ได้พูดคุยหรือสั่งเสียอะไรก่อนที่จะเผามั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : บอกแม่ว่าไม่ต้องห่วง เดี๋ยวจะดูแลพ่อต่อให้

แล้วสภาพจิตใจของคุณตาตอนนี้เป็นยังไง?

คุณแม่เจริญศรี : แย่เหมือนกัน

แล้วญาติ ๆ เขาให้อภัยน้องมั้ยกับสิ่งที่เกิดขึ้น?

คุณแม่เจริญศรี : ให้แล้วค่ะ ตอนนี้ก็ให้อภัยให้โอกาส

ถ้าน้องออกมาจากการรับโทษครอบครัวยังจะต้อนรับมั้ย?

คุณแม่เจริญศรี : ถามว่าต้อนรับมั้ยก็ต้อนรับค่ะ ถ้าเราไม่ต้อนรับแล้วเขาจะกล้าไปโลกข้างนอกมั้ยถ้าไม่มีเรา ก็ต้องให้โอกาสเขาถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาอยู่ยังไงคะตัวคนเดียวญาติพี่น้องพร้อมรับค่ะ

น้องได้ขออโหสิกรรมคุณยายแล้วยัง?

คุณแม่เจริญศรี : ขอค่ะ บอกว่าฝากขอโทษยายด้วย เขาฝากแม่มา

สมมติวันนี้แม่สามารถสื่อสารอะไรกับคุณยายได้จะบอกอะไร?

คุณแม่เจริญศรี : อยากให้แม่อโหสิกรรมให้น้อง แล้วก็อย่าห่วง ไม่อยากให้แม่ห่วง (ร้องไห้)

ได้ข่าวว่าคนในครอบครัวพี่ชายแม่โกรธมากเลย?

คุณแม่เจริญศรี : ถามว่าโกรธมั้ยเขาก็โกรธ ที่ทำให้แม่เครียดเพราะแม่ก็อายุเยอะแล้วเป็นเบาหวานความดันกลัวแม่จะช็อก แต่ตอนนี้อารมณ์โกรธน้อยลงพร้อมให้อภัยแล้ว

ถ้าน้องออกมาแล้วครอบครัวควรจะทำอย่างไรให้น้องได้ฟื้นฟูจิตใจ?

ดร.วิสมล : ก็พอน้องออกจากสถานพินิจโดยทั่วไปนักจิตวิทยาจะมีเข้าไปดูแลอยู่แล้ว ในสถานพินิจก็จะมีดูแลอยู่แล้ว เขาจะมีกิจกรรมให้ทำนะคะ แต่ก็ต้องขอวิงวอนหลายๆ คนว่าอยากให้สังคมให้อภัยน้องก่อนสำคัญมาก เพราะเขาผิดครั้งแรกยอมรับว่าเป็นคดีที่มันรุนแรงมากแต่เราก็อยากให้สังคมอภัยก่อนอย่าไปตีตราเขาเลย พอออกมาเราก็ต้องให้การบำบัดเขา และมาแก้มาฟื้นฟู น้องก็ต้องมีการให้เรียนค่ะหรือถ้าน้องไม่เรียนต้องหาวิชาชีพให้น้องทำ ถ้าฟื้นฟูง่ายๆ คือการให้น้องไปบวชชีค่ะ ให้น้องได้ไปทำใจและสงบนิ่งด้วยตัวเอง มันง่ายๆและมันนิ่ง

ถ้าโดนขังหลายปีไม่มีคนชี้แนะอาจจมดิ่งกว่าเดิมมีคำแนะนำอย่างไร?

ดร.วิสมล : ในสถานพินิจจะมีกิจกรรมทำค่ะ จะมีนักจิตวิทยาอยู่แล้วค่ะน้องจะดีขึ้น แต่ออกมาจะมีการวัดอยู่แล้วค่ะว่าน้องเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า จิตใจจะเป็นเหมือนเดิมหรือเปล่า และคุณแม่เองจะต้องรักษาจิตใจด้วยเหมือนกัน

คุณแม่เจริญศรี : จิตใจแม่ก็แย่เหมือนกัน ไหนจะไม่สบายด้วยก็ยิ่งทรุดไปอีก

วันนี้ทางบ้านผู้ชายเขาเข้าใจแม่แล้วยัง?

คุณแม่เจริญศรี : ไม่รู้ค่ะ เรื่องมันก็จบแล้วให้มันเป็นไปตามกฎหมายดีกว่า

ถ้าให้พูดกับครอบครัวเขาจะพูดว่าอย่างไร?

คุณแม่เจริญศรี : ในเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ไม่มีใครอยากให้เกิด ต่างคนก็ต่างเสียใจทั้งคู่ก็ให้มันจบลงแค่นี้ เราจะไม่ถือสาหรือโกรธกันอีกที่เหลือปล่อยไปถามกฎหมายแล้วกัน อโหสิกรรมให้กันและกัน

อยากบอกอะไรกับคนในสังคม?

คุณแม่เจริญศรี : ชีวิตเราเลี้ยงมาโตก็จริงก็เลี้ยงได้แต่ตัวหัวใจไม่สามารถเลี้ยงหรือบังคับอะไรเขาได้เลย อยากให้สังคมให้อภัยเขาหน่อยเขายังเด็ก เขาอาจคิดได้แต่เขาอาจคิดช้าไปนิดนึงแค่นั้นเองแหละค่ะ

ดร.วิสมล : อยากจะฝากว่าให้อภัยและให้โอกาสน้องเขาเพราะน้องเพิ่งผิดครั้งแรก มันเป็นสิ่งสำคัญถ้าเด็กคนไหนที่ผิดแล้วถ้าเราได้ไปอยู่ใกล้เขาจริง ๆ อาจได้รู้ปัญหาของเขา อาจเป็นความอบอุ่นที่ห่างไกล การอยู่กับยายที่ไม่ได้เป็นยายหลาน เป็นเจ้านายกับลูกน้องที่คอยสั่ง แล้วคุณแม่เขาก็ไม่อยู่ด้วย น้องอาจเหงายิ่งเด็กสมัยนี้ไปเจอสื่อโซเชียลได้ง่ายการโหยหาความรักเขาก็มีค่ะ อยากจะฝากไว้ว่าให้โอกาสเขาเถอะค่ะ

About Author